ประเพณีต้อนรับตรุษเต๊ตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

Thu Hằng
Chia sẻ
(VOVWORLD) -วันตรุษเต๊ตประเพณีมีความสำคัญมากสำหรับคนเวียดนาม ในวันปีใหม่สมาชิกในครอบครัวอยากอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อสังสรรค์พูดคุยและอวยพรกัน ซึ่งในช่วงการฉลองปีใหม่นั้น ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่น่าสนใจต่างๆก็สะท้อนเอกลักษณ์ ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์54เผ่าพี่น้องในเวียดนาม โดยเฉพาะในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามที่เป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเช่น ไท ไต เหมื่อง เย้า ฯลฯ

 
 
ประเพณีต้อนรับตรุษเต๊ตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ - ảnh 1ห่อขนมข้าวต้มมัดใหญ่หรือ “แบ๊งห์จึง”

ในเดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี ชาวเผ่า ค้าง ที่อำเภอ กวี่งยาย จังหวัด เซินลา จะเข้าป่าหาฟืนและใบตองจิงเพื่อห่อขนมข้าวต้มมัดใหญ่หรือ “แบ๊งห์จึง” และใบกล้วยป่าเพื่อห่อหมูย่างและนำไปรองถาดอาหารวันตรุษเต๊ต ซึ่งนอกจากการเตรียมอาหารพิเศษในเทศกาลเต๊ตแล้ว ชาวเผ่าค้างยังมีประเพณีที่สำคัญที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปคือการสระผมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่มีข้อห้ามที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิง โดยผู้หญิงจะสามารถไปสระผมที่ท่าน้ำในวันที่ 29 เดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติเท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่า ผู้หญิงเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนแอ ซึ่งในวันที่ 30 เดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติทุกสรรพสิ่งในโลกหยิน-หยางมักจะบังเกิดขึ้นเพื่อร่วมฉลองปีใหม่ ซึ่งหากเจอบรรดาเหล่าวิญญาณร้ายก็จะทำให้ผู้หญิงได้รับโชคร้ายเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ขณะที่ผู้ชาย ซึ่งถือมีจิตที่แข็งกล้า จะสามารถสระผมในวันที่ 30 โดยไม่ต้องเกรงกลัวความโชคร้ายใดๆ นาง หล่อถิฟาก ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมชนเผ่าค้างในตำบล เจี่ยงเอิญ อำเภอ กวี่งยาย เผยว่า “เมื่อสระผม ต้องเตรียมน้ำซาวข้าว ใช้ยอดต้นไม้ป่าบางชนิดจิ้มลงไปในน้ำ แล้วปัดที่ศีรษะ 3 รอบพร้อมท่องภาวนาบทสวดป้องกันภัย ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและแผ่เมตตาให้คลาดแคล้วปลอดภัย ความทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงของปีเก่าให้ลงตามแม่น้ำไหลออกไปให้หมด และขอพรจากบรรพบุรุษให้ปกป้องคุ้มครองประทานพรให้ตัวเอง ครอบครัว และหมู่บ้านของตนได้รับแต่สิ่งที่ดีในปีใหม่ที่มาถึง ขอให้ดินฟ้าอากาศได้ดั่งใจคน พืชผลอุดมสมบูรณ์ วัวควายเต็มฝูง ข้าวเหลือเกลืออิ่ม”

สำหรับชาวเผ่าม้ง หนึ่งในขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องพูดถึงคือการบูชาบรรพบุรุษและการเปลี่ยนหิ้งบูชาใหม่ในโอกาสตรุษเต๊ต ในช่วงบ่ายวันที่ 30 เดือนที่ 12 ตามจันทรคติ เจ้าของบ้านต้องเลือกตัดกิ่งไผ่ที่ยอดไม่หักจำนวน 3 กิ่งพร้อมมัดธูป 3 ดอกเข้าไปแล้วกวาดทุกมุมบ้านออกไปที่ประตูด้านหน้า หลังจากนั้นเอาไม้กวาดมากวาดบ้านให้สะอาด ด้วยความเชื่อว่าจะขับไล่ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเคราะห์ภัยของปีเก่าออกไปให้หมด พร้อมรับโชคลาภ มั่งมี ศรีสุข และขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในช่วงนั้นของชาวม้งคือการเปลี่ยนหิ้งบูชาบรรพบุรุษพร้อมกระดาษติดหิ้งบูชา โดยเจ้าของบ้านต้องตัดกิ่งไผ่ท่อนใหม่พร้อมกระดาษแผ่นใหม่เพื่อนำไปเปลี่ยนแทนอันเก่า และต้องเลือกไก่ตัวผู้ขนาดใหญ่ที่ขนสวยงามหนึ่งตัว เอาไปเชือดและถอนขนตรงคอเพื่อติดบนกระดาษแผ่นดังกล่าวบนหิ้งบูชา แล้วค่อยนำเนื้อไก่ไปทำและนำมาตั้งบนหิ้งบูชาเพื่อไหว้บรรพบุรุษทั้งหลายจนถึงวันที่ 1 เดือนอ้ายถึงจะขอเอาลง นาย ถ่าวจื๊อเจี๋ย ที่หมู่บ้าน กอหยื่อ ตำบล ลองแห่ อำเภอ ถ่วนเจิว จังหวัด เซินลา เผยว่า“สำหรับพิธีการเปลี่ยนหิ้งบูชานั้น ชาวม้งจะทำตอนกลางคืนภายหลังช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยสวดมนต์ขอพรเพื่อรับสิ่งดีๆ เข้ามาในยามเช้า ส่วนหลังจากที่ทำหิ้งบูชาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราจะไปเอาน้ำแก้วแรกของปีใหม่ด้วยความเชื่อว่าเพื่อรับโชคลาภใหม่ มั่งมี ศรีสุข ให้แก่ครอบครัว ขอให้ดินฟ้าอากาศได้ดั่งใจ การผลิตได้ผลดี ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ไก่เป็ดวัวควายเต็มคอก และท้ายที่สุดในช่วงเช้าของวันที่ 1 สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะไปอวยพรเพื่อนบ้านรอบๆเท่านั้น โดยจะไม่ออกเดินทางไปไหนไกลๆ ไม่ใช้เงิน ไม่ขับรถ ฯลฯ ในช่วงนี้”

ประเพณีต้อนรับตรุษเต๊ตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ - ảnh 2สำหรับชาวเผ่าม้งใช้กิ่งไผ่ที่ยอดไม่หักจำนวน 3 กิ่งพร้อมมัดธูป 3 ดอกเข้าไปแล้วกวาดทุกมุมบ้านออกไปที่ประตูด้านหน้าเพื่อขับไล่ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

สำหรับชนเผ่าเย้าได้มีความเชื่อว่า เทศกาลตรุษเต๊ดถือเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมารวมตัวกันหลังจากที่ได้ทำงานอย่างขยันขันแข็งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อรายงานผลลัพธ์ต่างๆ ต่อบรรพบุรุษ พร้อมขอดลบันดาลพรให้แก่ครอบครัวในปีใหม่ โดยชาวเย้าได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อพิธีการไหว้บรรพบุรุษในช่วงปีใหม่ ด้วยการเตรียมข้าวของเซ่นไหว้ที่ประกอบด้วยเนื้อหมู เนื้อไก่ตัวผู้ ขนมข้าวต้มมัด ขนมแบ๊งใหญ่ เหล้าขาว เป็นต้น ซึ่งได้จัดเตรียมไว้ก่อนหน้านั้นเป็นเดือน รวมถึงอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือไม้ฟืน โดยแต่ละครัวเรือนต่างเตรียมไม้ฟืนใหญ่เนื้อแข็ง 3 ท่อนเพื่อสามารถใช้หุงหาอาหารและไฟจะไม่ดับในตลอดทั้ง 3 วันของเทศกาลตรุษเต๊ด ซึ่งกองไฟนั้นไม่เพียงให้ความอบอุ่นในยามหนาวเหน็บแต่ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงครอบครัวแสนอบอุ่นและสันติสุข

เมื่อเดินทางไปเยือนถิ่นตะวันตกเฉียงเหนือในช่วงเทศกาลตรุษเต๊ด นักท่องเที่ยวต่างได้สัมผัสกับพิธีกรรมและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น การงดเรียกชื่อกัน งดใช้จ่ายเงิน งดกินพืชผัก ฯลฯ ในวันตรุษเต๊ตที่หนึ่งคือวันแรกของเดือนอ้ายจันทรคติ รวมถึงได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศที่สดใสของป่าเขาธรรมชาติ ดื่มด่ำกับสีสันมวลดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของป่าเขาอย่างดอกท้อ ดอกพลัม ตลอดจนได้สัมผัสร่วมสนุกสนานกับประเพณีการโยนลูกช่วงกับเหล่าสาวๆชนเผ่าที่สวมใส่ชุดพื้นเมืองอย่างสดใสหลากสีสันในการฉลองเทศกาลตรุษเต๊ต./.

คำติชม