ประเพณีขอบคุณพ่อตาแม่ยายของชนเผ่าเกอตูในจังหวัดกว๋างนาม

Lâm Thanh
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ชนเผ่าเกอตูเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชิดชูการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในความเป็นชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากประเพณีการเยี่ยมเยือนกันระหว่างครอบครัวของคู่บ่าวสาวหลังจากที่แต่งงานแล้ว และมิใช่เป็นการพบปะระหว่างพ่อแม่และพี่น้องของสองฝ่ายเท่านั้นหากยังขยายไปถึงเครือญาติอีกด้วย โดยในการเยี่ยมเยือนกันนั้นฝ่ายชายมักจะนำสัตว์สี่ขาไปมอบเป็นของขวัญ ส่วนฝ่ายหญิงมักเตรียมสัตว์สองขาเป็นของขวัญตอบแทน 

ประเพณีขอบคุณพ่อตาแม่ยายของชนเผ่าเกอตูในจังหวัดกว๋างนาม - ảnh 1ควายเป็นหนึ่งในสิ่งของสำคัญที่ฝ่ายชายมอบเป็นของขวัญให้แก่พ่อตาแม่ยาย
 
 
ในช่วงปลายปีเมื่องานทำไร่ทำนาเสร็จเรียบร้อย ครอบครัวของคู่บ่าวสาวมักจะไปเยี่ยมเยือนกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนเผ่าเกอตูเพราะพวกเขาตระหนักว่า การเยี่ยมเยือนกันเป็นเรื่องเล็กแต่ความหมายที่ลึกซึ้งกว่าก็คือเป็นการสร้างโอกาสให้สองฝ่ายได้แบ่งปันเรื่องราว เล่าสารทุกข์สุกดิบให้แก่กันฟังสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีงามและใกล้ชิดยิ่งขึ้นให้แก่สองตระกูล ดร.ลิวหุ่ง อดีตรองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เวียดนามเผยว่า “สำหรับชนเผ่าเกอตู การแต่งงานของหนุ่มสาวไม่เพียงแต่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างครอบครัวสองฝ่ายเท่านั้นหากยังขยายไปถึงญาติมิตรในวงตระกูลของสองฝ่ายอีกด้วย.”

ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันแต่เดิมนาน ครอบครัวของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะไปเยี่ยมกันปีละสองครั้ง โดยจะมีการเตรียมของขวัญไปมอบให้แก่กันเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งตามข้อมูลที่นาย Bh’riu Pố ผู้ใหญ่บ้าน อาเดอ ตำบล อาเตียง อำเภอเตยยาง จังหวัดกว๋างนาม สองฝ่ายจะมอบข้าวของเสื้อผ้า สัตว์เลี้ยงและเหล้าให้แก่กัน โดยฝ่ายหญิงจะนำสัตว์ปีกหรือสัตว์น้ำมอบเป็นของขวัญส่งให้ฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายชายจะนำสัตว์สี่ขาไปมอบเพื่อตอบแทนฝ่ายหญิง อันเป็นการแสดงความสัมพันธ์อันดีต่อกันและสิ่งของเหล่านั้นก็นำไปทำอาหารเพื่อต้อนรับแขกของทั้งสองฝ่าย“ในช่วงวันที่ฝ่ายหญิงมาเยี่ยม ฝ่ายชายจะต้อนรับอย่างดีเป็นพิเศษ เมื่ออำลากันก็จะเตรียมสิ่งของเพื่อมอบเป็นของขวัญที่อาจจะเป็นอาหาร เนื้อสัตว์ให้ฝ่ายหญิงนำกลับบ้านแล้วแจกให้ญาติมิตรคนละนิดคนละหน่อย ซึ่งจะเป็นการให้เกียรติและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ฝ่ายหญิงต่อญาติพี่น้องในวงตระกูลของตน”

ตามประเพณีของชาวเกอตู เมื่อคู่สามีภรรยาแต่งงานอยู่ร่วมกันสักระยะจนถึงตอนมีลูกคนแรก ฝ่ายชายจะนำสิ่งของต่างๆเช่น ควายหนึ่งตัว เหล้าและข้าว รวมทั้งฆ้องกลองไปที่บ้านฝ่ายหญิงเพื่อกล่าวขอบคุณพ่อตาแม่ยายที่ได้เลี้ยงดูลูกสาวอย่างดีเพื่อให้ตนเองได้มีภรรยาที่ดีและมีลูกที่น่ารักแข็งแรงดั่งทุกวันนี้ ซึ่งเมื่อเตรียมสิ่งของต่างๆพร้อมแล้ว ฝ่ายชายจะแจ้งให้ฝ่ายหญิงทราบกำหนดการมาเยี่ยมเพื่อให้ฝ่ายหญิงเตรียมต้อนรับโดยจะมีการจัดงานเลี้ยงฝ่ายชายและแจ้งให้คนในตระกูลหมู่บ้านรับทราบวันจัดกิจกรรมตอบแทนบุญคุณนี้ โดยงานจะจัดเป็นเวลา2 - 3วัน ซึ่งในวันแรกขบวนครอบครัวฝ่ายชายจะนำสิ่งของไปมอบให้ฝ่ายหญิง เมื่อถึงประตูบ้าน ฝ่ายหญิงก็เตรียมคณะผู้แทนยืนรอต้อนรับพร้อมการฟ้อนรำและเชิญดื่มเหล้าเพื่อเป็นการแสดงการให้เกียรติต่อฝ่ายชาย ผู้ใหญ่บ้าน Bh’riu Pố เผยว่า

การที่ฝ่ายหญิงยืนต้อนรับ ฝ่ายชายตั้งแต่หน้าบ้านได้แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายหญิงให้ความสำคัญต่อฝ่ายชายมาก หลังพิธีต้อนรับก็เข้างานเลี้ยงอย่างคึกคักสนุกสนาน ซึ่งจะทำให้คณะผู้แทนของครอบครับฝ่ายชายมีความสุข ส่วนหนุ่มสาวที่มาร่วมงานก็มีโอกาสสังสรรค์กันและหลังจากนั้นก็มีคู่รักใหม่ที่แต่งงานเป็นครอบครัวใหม่”

วันที่ 2 ของงานก็เป็นวันที่มีความสนุกสนานที่สุด ในวันนั้นทั้งสองหมู่บ้านจะร่วมกันจัดกิจกรรมแทงควาย หนุ่มสาวจะร่วมกันร้องรำ "ตุงยา" ซึ่งเป็นท่าระบำถวายสรวงสวรรค์ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่จะร้องเพลงพื้นบ้านตลอดทั้งคืน มีการตีกลองและฆ้องเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลอันยิ่งใหญ่ของทั้งสองครอบครัว และในวันรุ่งขึ้นพวกเขาก็จะอำลากัน เมื่อเตรียมเดินทางกลับ ครอบครัวของฝ่ายชายจะมอบสิ่งของต่างๆที่เป็นเหล้า ข้าว เนื้อ ฆ้อง กลอง ฯลฯ ให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิงและฝ่ายหญิงก็มีของขวัญตอบแทนเพื่อแสดงความขอบคุณครอบครัวของฝ่ายชายที่ให้เกียรติครอบครัวของฝ่ายหญิงอย่างจริงใจ

ทั้งนี้งานประเพณีขอบคุณพ่อตาแม่ยายของชนเผ่าเกอตูในจังหวัดกว๋างนามยังคงได้รับการสืบสานและปฏิบัติในชีวิตจริงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามในการเชิดชูความกตัญญูรู้คุณและยังช่วยเพิ่มสีสันในมรดกวัฒนธรรมชนเผ่าเวียดนามให้มีความหลากหลายมากขึ้น./.

คำติชม