เทศกาลแข่งวัว - ความงามในชีวิตจิตใจของชุมชนหมู่บ้านชนเผ่าเขมร

Hà Phương
Chia sẻ
(VOVWORLD) - เทศกาลแข่งวัวที่วัด โร (Ro) ในจังหวัดอานยาง (An Giang) เป็นหนึ่งในเทศกาลใหญ่ของชนเผ่าเขมรในภาคใต้ นี่คืองานกีฬาแบบดั้งเดิมที่เชื่อมโยงผู้คนในชุมชน สะท้อนความงดงามของชีวิตจิตใจของประชาชนในหมู่บ้านชนเผ่าเขมรต่างๆ

เทศกาลแข่งวัว - ความงามในชีวิตจิตใจของชุมชนหมู่บ้านชนเผ่าเขมร - ảnh 1
"ตามประเพณีชนเผ่าเขมร ก่อนจัดเทศกาล Sen Dolta หลังฤดูปลูกข้าว ชาวนาจะมาสังสรรค์พบกันเพื่อแข่งวัว โดยชนะหรือแพ้ไม่สำคัญเพราะถือเป็นกิจกรรมสร้างความสุขสนุกสนานให้แก่ชุมชน"

เทศกาลแข่งวัว วัดโร ในหมู่บ้านหวิงเถือง (Vinh Thuong) ตำบลอานกือ (An Cu) อำเภอติ๋งเบียน (Tinh Bien) จังหวัดอานยาง มีต้นกำเนิดมาจากความต้องการของเกษตรกรในการทำนาดำ เป็นโอกาสให้ชาวชนเผ่าเขมรรำลึกและสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ ดร.เยืองดึ๊กมิงห์ รองหัวหน้าสถาบันวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า"เทศกาลแข่งวัวจัดขึ้นหลายรอบและมีกฎกติกาอย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดเหมือนเป็นการแสดงมหากาพย์ที่ชื่นชมทัศนียภาพธรรมชาติอันเงียบสงบและเมื่อได้มีชีวิตอยู่ในธรรมชาติที่สงบสุข ชาวบ้านจึงรู้สึกขอบเหล่าเทพแห่งธรรมชาติ แล้วจึงเลือก วัวซึ่งเป็นตัวแทนของความแข็งแกร่งของการเกษตร การมีอายุยืนยาว การพัฒนาของการเกษตร"

สนามแข่งวัวเป็นที่นาราบเรียบยาวประมาณ 200 ม. กว้าง 100 ม. พื้นดินเปียกชื้นแฉะ ใช้คันไถไถหลายรอบเพื่อให้โคลนเรียบ มีคันนาล้อมทั้งสี่ด้าน ตรงจุดเริ่มต้นและจุดเส้นชัยมีการปักธงสีเขียวและสีแดงห่างกัน 5 เมตร  วัวคู่ใดยืนอยู่ ณ ตำแหน่งธงสีไหนก็ต้องไปถึงจุดปลายทางตามสีของธงนั้นๆ ในปีนี้ เทศกาลแข่งวัววัดโร มีวัว 24 คู่จากอำเภอเมือง ติ๋งเบียน และอำเภอ จีตน จังหวัด อานยาง นาย หวิ่งฟุกเหา สมาชิกคณะกรรมการตัดสินเผยว่า "วัดโรมีสนามสำหรับแข่งวัวมายาวนาน ผ่านการจัดการแข่งขันหลายครั้งก็ดึงดูดผู้คนมาเชียร์จำนวนมาก สร้างบรรยากาศที่สนุกรื่นเริง ปีนี้จัดเป็นปีที่ 10 แล้ว เราก็ดีใจมากที่มีผู้สนใจจากทั่วประเทศมาชมการแข่งวัวนับวันเพิ่มมากขึ้น"

เทศกาลแข่งวัว - ความงามในชีวิตจิตใจของชุมชนหมู่บ้านชนเผ่าเขมร - ảnh 2

 การแข่งวัว จะจัดตามระเบียบดังนี้ โดยตอนแรกคือการจับฉลากเลือกคู่วัวเข้าแข่งตามลำดับ เมื่อทำการแข่งขัน วัว 2 คู่จะแข่งขันกันแบบสองรอบ รอบที่ 1 แข่งตามคำสั่งของนักเลงวัวเพื่อเร่งพลังและรอบที่2 คือวิ่งแข่งอิสระคือเวลาที่วัววิ่งด้วยความเร็วสูงสุดจนถึงเส้นชัยภายใต้การควบคุมของนักเลงวัว วัวคู่ที่คว้าแชมป์จะต้องผ่านการแข่งขันทุกรอบกับคู่แข่ง ระหว่างการแข่งถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิค เช่น การหักคันไถ การฝ่าฝืนเส้นกำหนดวิ่งแข่งบนสนาม หรือผู้ขับวัวตกจากคันไถก็ถือว่าแพ้  นาย โห่อี ช่างภาพจากนครโฮจิมินห์มาร่วมงานแข่งวัวเผยว่า "ผมได้ไปร่วมงานแข่งวัวห้าถึงหกครั้งแล้ว และชอบถ่ายรูปการแข่งวัวมาก ปีนี้งานน่าสนใจที่สุดเมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ เนื่องจากมีผู้ชมจำนวนมาก ช่างภาพและผู้สนับสนุนก็มากกว่าทุกปี"

เพื่อให้ได้วัวแข่งที่มีความแข็งแรง เจ้าของวัวซึ่งก็เป็นนักเลงวัวต้องดูแลเป็นอย่างดี ฝึกให้วัวฝึกวิ่งในสนามที่เป็นทุ่งนาเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาไปแข่งก็จะได้รับการแต่งกายอย่างสวยงามด้วยระฆังสีเหลืองสดใส เขาถูกคลุมด้วยผ้าหลากสีสัน  เจ้าของวัวคนหนึ่งเล่าว่า "ปกติวัวจะกินอะไรก็ได้ แต่ก่อนถึงการแข่งขัน เราต้องให้อาหารตามเวลา ในปริมาณที่พอเหมาะ พอดี ไม่อิ่มจนเกินไป ให้อาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ไข่ มะพร้าวสด ข้าวต้ม... รวมทั้งต้องออกฝึกเป็นประจำ บางคนฝึกวัววิ่งแข่งสัปดาห์ละครั้ง ผมเองให้ฝึกสัปดาห์ละ 3 ครั้ง"

            สำหรับชุมชนเผ่าเขมร เทศกาลแข่งวัวถือเป็นเทศกาลสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากความสำคัญทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณแล้ว เทศกาลนี้ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอีกด้วย./.

คำติชม