พิณ K'lông Pút (Thanh Thuận - Báo Biên phòng) |
ชุมชนเผ่าเซอดังในจังหวัดกอนตุมมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านหลายอย่างที่โดดเด่นน่าสนใจเช่น พิณ T’rưng พิณ K'lông Pút พิณน้ำ กลอง ฆ้อง ปี่และเครื่องเคาะ โดยพิณ T’rưng และพิณ K'lông Pút ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากปล้องไผ่เป็นเครื่องดนตรีสองชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตชุมชน นายฟานวันหว่าง รองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดกอนตุม เผยว่า "ชาวบ้านได้ผลิตเครื่องดนตรีสองชนิดดังกล่าวเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยพิณK'lông Pút เป็นเครื่องดนตรีของผู้หญิง ส่วนผู้ชายตีฆ้อง ซึ่งพิณสองอย่างนี้ได้ปรากฎในวงดนตรีพื้นบ้านเพื่อร่วมแสดงในงานเทศกาลต่างๆ"
สำหรับส่วนประกอบหลักของพิณ T’rưng คือกระบอกไผ่ที่ผูกติดกันเป็นแผงยาวซึ่งก็เหมือนกับสายกีตาร์ โดยมีกระบอกที่เป็นช่องอากาศและกระบอกสะท้อนเสียง ทำให้เกิดระดับเสียงที่ก้องกังวาน เพื่อสร้างโทนเสียงให้แก่แต่ละกระบอก ช่างทำจะต้องเหลาส่วนปากกระบอกอย่างพิถีพิถันทีละน้อยแล้วต้องทดสอบโทนเสียงด้วยตนเอง
ส่วนพิณ K'lông Pút ทำจากไผ่หลอดและเสียงที่ออกมาเกิดจากการปรบมือที่ปากกระบอกไผ่ พิณK'lông Pút มักจะประกอบด้วยกระบอกไผ่ 7 ถึง 10 กระบอก ตามแต่สไตล์การเล่นของแต่ละคน เมื่อทำการแสดงเครื่องดนตรีนี้จะถูกวางบนแท่นหินหรือวางบนลำต้นของต้นไม้ ผู้หญิงเซอดังในชุดพื้นเมืองจะโชว์ฝีมือการเล่นเพื่อให้เสียงพิณดังกังวานไปทั่วป่าเขา โดยชาวบ้านเชื่อว่ากระบอกไม้ไผ่ที่ใช้เล่นนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกระบอกไผ่ที่บรรจุเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับการเพาะปลูกโดยเป็นที่สถิตของจิตวิญญาณแห่งข้าว ดังนั้น การเล่น พิณK'lông Pút ในไร่นาจะช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดี การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนี้เสียง พิณK'lông Pút ยังช่วยป้องกันสัตว์ป่าและยังเป็นการแสดงความรักของคู่รักอีกด้วย ศิลปินยอดเยี่ยม Y Sinh เผยว่า "การเล่นพิณK'lông Pút ต้องการความหลงใหลในดนตรีพื้นบ้าน เมื่อก่อนเราสามารถเล่นพิณK'lông Pút ได้สองสามวัน เช่น เมื่อนาข้าวเจริญงอกงามและมีแนวโน้มว่าจะเก็บเกี่ยวได้ดีในปีนี้ ผู้คนก็มาฉลองกันที่บ้านโรง เอาพิณK'lông Pút มาเล่นและนำฆ้องมาตีเพื่อสร้างความสนุนสนาน นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และจีนชอบมาชมการแสดงดนตรีของเรามาก"
ศิลปินยอดเยี่ยม Y Sinh(คนกลาง) แสดงพิณ T’rưng |
นอกจากพิณ K'lông Pút พิณ T’rưng แล้วชาวเซอดังก็มีเครื่องดนตรีน้ำที่มีเอกลักษณ์น่าค้นคว้า โดยประกอบด้วยกระบอกไม้ไผ่หลายอันที่มีความยาวต่างกัน แขวนในแนวตั้งที่ลำธารเมื่อน้ำไหลเข้ากระบอกใหญ่ก็จะเกิดเสียงโทนต่ำ ส่วนกระบอกสั้นจะให้เสียงสูง ในงานเทศกาลหรืองานสาธารณะต่างๆของหมู่บ้าน หลังพิธีสักการะก็จะเป็นงานรื่นเริงเพื่อให้ทุกคนร้องเพลง เต้นรำ ท่ามกลางเสียงดนตรีพื้นเมืองที่สนุกสนาน นายฟานวันหว่าง รองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จังหวัดกอนตูม กล่าวว่าหน่วยงานวัฒนธรรมของจังหวัดได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติอย่างเข้มแข็ง "สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้ส่งเสริมการจัดตั้งคณะศิลปินพื้นบ้านเพื่อไปแสดงในงานวันมรดกวัฒนธรรมเวียดนาม 23 พฤศจิกายนทุกปี รวมถึงในกิจกรรมต่างๆที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นี่เป็นโอกาสสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะได้ทำการแสดงเพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน และยังเป็นการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมดั้งเดิมให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย"
ปัจจุบันตามหมู่บ้านเซอดังต่างๆในจังหวัดกอนตูมได้มีการจัดตั้งสโมสรวัฒนธรรมและศิลปะพื้นบ้านหลายแห่งโดยนอกจากทำการแสดงในงานชุมชนแล้ว บรรดาศิลปินยังจะสอนการทำและเล่นเครื่องดนตรีให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อมีส่วนช่วยรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าเซอดังให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน./.