งานเซ่นไหว้ต้องจัดขึ้นที่บ้านของหมอผี(dantocvietnam.vn) |
เมื่อหน่อไม้อ่อนเริ่มโผล่ออกจากพื้นดิน ต้นกาหลงเริ่มออกดอกอวดโฉมบนไหล่เขาสูง ชาวเผ่าลาฮาที่หมู่บ้าน หน่าไต ต.ปีตอง อ.เหมื่องลา จังหวัดเซินลาได้จัดงานเทศกาล ปางอา เพื่อขอฝนขอพรเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง โชคดี มีกินมีใช้และขอบคุณฟ้าดินกับเทพเจ้าทุกองค์ที่คอยดูแลเรือกสวนไร่นาและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งตามความเชื่อในชุมชน ไถ่มอหรือหมอผีถือเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า คุณหล่อวันฟาง หมอผีประจำหมู่บ้านเผยว่า“เทศกาลปางอามีมานานแล้ว แต่มิใช่ถูกจัดขึ้นทุกปี โดยจะจัดขึ้นในปีที่การเก็บเกี่ยวได้ผลและชีวิตมีความอิ่มหนำเท่านั้น เราจัดงานปางอานี้ขึ้นเพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสสังสรรค์กัน พร้อมทั้งเป็นการขอพรจากเทพเจ้าคุ้มครองให้ประชาชนไม่เจ็บไม่ป่วยและครอบครัวผาสุก”
เพื่อเตรียมให้แก่การจัดงานปางอา เจ้าของงานจะฆ่าหมู2ตัวใหญ่ที่ใช้เซ่นไหว้ นอกจากนั้น ผู้ที่เป็นลูกหลานของหมอผีที่จัดพิธีก็จะนำสิ่งของที่ผลิตเองมาร่วมด้วยคนละอย่างเช่น ไก่ เป็ด ข้าว เหล้า ผลไม้ เพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษและเทพเจ้าที่คอยปกป้องชาวบ้านในเวลาที่ผ่านมา พิธีกรรมต่างๆมักจะจัดขึ้นที่บ้านของหมอผี โดยชาวบ้านจะมาตั้งเสาตุง ต้นอ้อยหรือต้นกล้วยเพื่อแขวนสิ่งของต่างๆที่สานด้วยไผ่เป็นรูปดอกไม้ป่าหรือสัตว์ต่างๆ เมื่อการเตรียมสิ่งของทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยหมอผีก็เริ่มพิธีเชิญบรรพบุรุษและเทพเจ้าที่ดูแลส่วนต่างๆของโลกมารับทราบความปรารถนาและความเคารพขอบคุณจากชาวบ้านและขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายคอยปกป้องคุ้มครองทุกคนให้มีชีวิตที่อิ่มนำผาสุก
หมอผีเป็นผู้จัดและทำพิธีเซ่นไหว้(dantocvietnam.vn) |
เมื่อเสร็จพิธีเซ่นไหว้ ทุกคนที่มาร่วมงานก็จะถวายสิ่งของที่ตนนำมาเพื่ออัญเชิญเทพเจ้ามารับประทานและประทานพรให้ หลังจากนั้นหมอผีจะนำสิ่งของเหล่านั้นแจกให้ทุกคนนำกลับบ้านเพื่อความโชคดี ส่วนชาวบ้านทุกคนจะร่วมกันจัดงานรื่นเริง ทานอาหาร ร้องเพลงเต้นรำรอบเสาตุงโดยท่ารำคำร้องต่างสะท้อนวิถีชีวิตและการผลิตของชาวท้องถิ่น จากการร่วมงานเทศกาลนี้หนุ่มสาวหลายคนได้มีโอกาสพบปะกันแล้วเกิดความรักและแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ นาย กว่างวันจูง ชาวบ้าน หน่าไต เผยว่า“การจัดเทศกาลปางอานี้ต้องทำตามขั้นตอนต่างๆ เช่นถ้ายังไม่เสร็จพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าถิ่นและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็ยังเปิดงานรื่นเริงไม่ได้ งานนี้ถือเป็นการชุมนุมของลูกหลานจากหมู่บ้านต่างๆเพื่อร่วมแสดงความสามัคคีสร้างสรรค์ชีวิตวัฒนธรรมใหม่ดังนั้นก็มีสามีภรรยาหลายคู่ได้พบกันในงานนี้”
แม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมหลายอย่างของชาวลาฮายังคงได้รับการสืบสานกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าโดยทุกคนต่างถือเป็นความรับผิดชอบของตนเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตที่มั่งคั่งมั่นคงสามัคคีและสงบสุข.