รวงข้าวที่ใช้ทำข้าวเม่า(Văn Tý/TTXVN) |
"เทศกาล Tam Kau Mau" ตำข้าวเม่า จัดขึ้นในเดือน 9 จันทรคติทุกปี เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าไตในจังหวัดเตวียนกวาง เมื่อทุ่งนาปลูกข้าวสารเหนียวเริ่มเหลือง ก็เป็นช่วงเปิดเทศกาลตำข้าวเม่าหรือที่เรียกว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลฉลองฤดูข้าวใหม่ในเดือนตุลาคมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตรุษเต๊ตปีใหม่ทางจันทรคติ ท่ามกลางบรรยากาศเย็นๆของฤดูใบไม้ร่วง เทศกาลตำข้าวเม่าไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมเปิดฤดูเก็บเกี่ยวใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นเวลาเพื่อให้ผู้คนที่นี่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเพิ่มความสามัคคีให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ดังนั้น นี่ถือเป็นงานเชิดชูการผลิตทางการเกษตรและมีความหมายทางจิตวิญญาณอีกด้วย นาย Then Ma Đức Mưởn จากหมู่บ้านลางชาง ตำบลจุงฮา อำเภอเจียมฮว้า จังหวัดเตวียนกวาง กล่าวว่า "เมื่อพระจันทร์เต็มดวง คือวันที่ 15-16 กันยายน ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านจะรวมตัวกันเกี่ยวข้าวก่อนและรวงข้าวยังเป็นสีเขียวอยู่เพื่อทำข้าวเม่าถวายบูชาเทพเจ้า อธิษฐานขอเทพเจ้าประทานพรให้การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ชีวิตประสบแต่โชคดี และการเก็บเกี่ยวในปีหน้าได้ผลดี"
ขั้นตอนที่สะท้อนจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพิธีคือการตำข้าวเม่าโดยบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นและน่าดึงดูดใจในเทศกาลเกิดขึ้นจากการผสมผสานกันอย่างลงตัวของการตำข้าวและการ้องเพลง quéng loong ศิลปะในการเคาะสากบนครกตำ โดยเดิมทีนั้นครกและสากเป็นเครื่องมือในการทำงานแต่เมื่อวัฒนธรรมการทำอาหารกลายเป็นวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความบันเทิงที่เพิ่มมากขึ้นของผู้คน สากและครกจึงกลายเป็นเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ประกอบในเทศกาล สากทำจากต้นโอ๊คที่มีขนาดพอดีกับมือจับและมีความยาวประมาณ 1.5 เมตร ส่วนครกไม้มีลักษณะเหมือนเรือ
บรรยากาศที่น่าตื่นเต้นและน่าดึงดูดใจในเทศกาลเกิดขึ้นจากการผสมผสานกันอย่างลงตัวของการตำข้าวและการร้องเพลง quéng loong |
ในส่วนของข้าวสารที่เลือกใช้ตำข้าวเม่าจะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างดี ต้องเป็นข้าวสารเกร็ดดีมีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอ วิธีการตำแบ่งเป็นสองแบบ โดยสามารถต้มข้าวสารหรือคั่วจนสุกพอดีแล้วปล่อยให้เย็น หลังจากนั้นก็นำไปปัดหรือเป่าเพื่อเอาเปลือกออก แล้วใส่ลงในครกเพื่อตำต่อไป ส่วนการตำข้าวเม่าจะดำเนินการตามจังหวะของเพลงพื้นเมืองพร้อมท่าเต้น แต่ละเพลงมีจังหวะที่แสดงความหมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงเกี่ยวกับความรัก ศีลธรรม ความตั้งใจ อีกทั้งยังเป็นสัญญาณอันอบอุ่นของหัวใจอันเป็นสายใยสานความสามัคคีในชุมชน และปลูกเร้าจิตใจแห่งความภาคภูมิใจในประเพณีวัฒนธรรมของประเทศ คุณ กวานถิเหี่ยน อาศัยในชุมชนจุงฮา อำเภอ เชียมฮว้าจังหวัด เตวียนกวาง กล่าวว่า"ดิฉันเกิดและเติบโตในชุมชนเผ่าไตท่ามกลางนาข้าวกว้างใหญ่ ได้รับการเลี้ยงดูจากเมล็ดข้าวที่นี่ดังนั้น จึงตระหนักถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมชุมชนและงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งช่วยให้เราสามารถอนุรักษ์และสืบสานคุณค่าที่ดีงามของวัฒนธรรมพื้นเมืองที่บรรพบุรุษทิ้งไว้อย่างสมบูรณ์"
เพื่อให้ข้าวเม่าที่ตำใหม่ๆมีความหอมหวานนุ่มเหนียวนาน ชาวบ้านจะใช้ใบตองห่อข้าวเม่า นอกจากนั้นก็นำข้าวเม่าไปทำเมนูต่างๆอย่างหลากหลายเช่น ทานคู่กับกล้วยสุก ต้มแกง ต้มโจ๊ก ผสมในเครื่องตุ๋นไก่ คั่วให้ฟูกรอบ หรือนำไปนึ่งข้าวเหนียว เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างจะมีรสชาติเฉพาะตามสูตรของวัฒนธรรมอาหารชนเผ่าไตที่ไม่เหมือนที่ใด
ในวันจัดพิธีตำข้าวเม่า ลูกหลานทุกบ้านมักจะนำข้าวเม่าที่เพิ่งเก็บรอบแรกมาทำอาหารเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางและเทพทั้งหลายที่ดูแลชุมชนรวมทั้งบรรพบุรุษเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกในบุญคุณของฟ้าดินและบรรพชน รวมทั้งสะท้อนความมุ่งมั่นอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าที่สืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ พิธีกรรมดั้งเดิมของงานตำข้าวเม่าในชุมชนเผ่าไตในจังหวัดเตวียนกวางได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติ อันเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนท้องถิ่นที่มุ่งมั่นตั้งใจสานต่อและส่งเสริมคุณค่าที่ดีงามแห่งวัฒนธรรมเขตเขาตอนบนของเวียดนาม.