ตามข้อมูลประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทในเวียดนามได้ตั้งหลักอาศัยเริ่มแรกที่เขตเหมื่องหล่อ จังหวัดเอียนบ๊ายจากนั้นได้มีการขยายชุมชนออกไปยังจังหวัดต่างๆเช่น เซินลา เดียนเบียน ลายโจว์แล้วอพยพลงไปแถบภาคกลางที่จังหวัด แทงฮว้า เหงะอาน เป็นต้น แต่เนื่องจากเริ่มแรกได้ตั้งหลักอาศัยในเขตเขาดังนั้นจึงสร้างบ้านเรือนตามลักษณะบ้านไม้ทรงใต้ถุน ยกพื้นสูง มีระเบียง โล่งโปร่งเรียบง่ายในสไตล์ชนบทและทนกับสภาพอากาศที่ผันผวนตามฤดูกาลได้ดี
หมู่บ้านหว่างแฟวของชนเผ่าไทในต.เหมื่องซอ อ.ฟองโถ จังหวัดลายโจว์ซึ่งอยู่ห่างจากอ.เมืองลายโจว์ประมาณ30กิโลเมตรเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดโดยบรรยากาศที่นี่มีความเงียบสงบและเรียบง่ายเป็นธรรมชาติจึงทำให้คนที่มาเยือนเหมือนพัดหลงเข้าไปในโลกนิทานที่มีความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ตามเรื่องที่ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังนั้น เมื่อครั้งโบราณกาลชนเผ่าไทยังไม่รู้จักการสร้างบ้านเหมือนในปัจจุบันแต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เฒ่าในหมู่บ้านฝันเห็นเต่าที่มาบอกว่าถ้าอยากสร้างบ้านก็ให้มองรูปร่างของเต่า จึงเป็นที่มาของบ้านไม้ที่มีสี่เสา หลังคาทำคล้ายกระดองเต่า ใต้ถุนสูง มีระเบียงล้อมรอบหรือเฉพาะด้าน นางเวืองถิมิ้น ชนเผ่าไทที่ลายโจว์เผยว่า
“เมื่อก่อนชนเผ่าเราได้สร้างบ้านบนพื้นดิน แต่เนื่องจากมีความชื้นเลยสร้างบ้านที่สูงกว่าพื้นประมาณ1เมตร แต่เพราะอยู่ในเขตป่าเขาจึงสร้างบ้านสูงขึ้นไปอีกเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายดังนั้นส่วนใหญ่สร้างบ้านที่มีบันใด9ขั้น”
|
เพื่อสามารถสร้างบ้านหลังหนึ่งได้อย่างถูกใจ ชาวบ้านต้องเลือกไม้เนื้อดีและที่พิเศษคือจะไม่มีการใช้โลหะช่วยยึดส่วนต่างๆของบ้านหากใช้แต่เส้นหวายหรือตอกไม้ไผ่ผูกเข้ากันให้แน่น บนหลังคาเรือนมีการประดับ “เคากู๊ต” หรือกาแล ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้แบบเหลี่ยมแกะสลักให้มีลวดลาย เป็นส่วนต่อจากปลายบนของช่องปั้นลมเหนือจั่วและอกไก่ โดยไขว้ติดกันโดยมีความหมายเพื่อป้องกันลมและเพื่อตกแต่งให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ในวิถีชีวิตของชนเผ่าไทนั้น บ้านไม้ยกพื้นมีความหมายสำคัญและมีความผูกพันกับชีวิตของทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตรู้จักทำงานช่วยเหลือครอบครัว ถ้าเป็นผู้ชายก็จะไปทำไร่ทำนา ถ้าเป็นหญิงก็จะอยู่บ้านเรียนทอผ้าเย็บปักถักร้อยเพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่ทุกคนในครอบครัวรวมทั้งเตรียมเสื้อผ้าสำหรับใช้เมื่อแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ส่วนระเบียงรอบบ้านเป็นที่นั่งทำงานของผู้ชายไม่ว่าจะเป็นการสานเครื่องจับปลาหรือเครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนั้น บ้านไม้ยกพื้นยังเป็นพยานแห่งความรักของคู่หนุ่มสาวตั้งแต่ช่วงเริ่มมีการพบปะกัน การร้องเพลงโต้ตอบเพื่อทำความเข้าใจกัน การมอบของที่ระลึกแทนคำมั่นจนถึงวันจัดงานแต่งงาน เเละเมื่อครอบครัวมีคู่สามีภรรยาใหม่ก็จะมีการขยายห้องไปอีกจนบ้านของบางครอบครัวมี10กว่าห้องสำหรับ10กว่าครอบครัวที่อาศัยร่วมอยู่ในบ้านเดียวกัน นาย เลิมบ๊านาม นักวิจัยวัฒนธรรมชนเผ่าเผยว่า
“เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าไทก็ต้องพูดถึงเอกลักษณ์ของบ้านเรือนไม้ยกพื้นซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์วัฒนธรรมของเผ่าไท โดยถือเป็นศูนย์รวมวิถีชีวิตของชนเผ่าโดยย่อเพราะได้สะท้อนบรรยากาศแห่งประเพณีวัฒนธรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนในบ้านตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย”
ถ้าหากใครที่มีโอกาสมาเที่ยวท้องถิ่นเขตเขาทางภาคเหนือของเวียดนามแล้วแวะมาเยือนชุมชนชนเผ่าไท เชื่อว่าจะต้องประทับใจและหลงรักความสวยงามของสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ของบ้านไม้ยกพื้นริมลำธาร ของเรือกสวนไร่นาที่เขียวขจีตลอดจนเรื่องวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์น่าสนใจของชาวท้องถิ่น.