( VOVworld )-เมื่อเร็วๆนี้ สื่อต่างๆของโลกได้เสนอข่าวในทางลบเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ในเขตยูโรโซน อันเป็นการส่งสัญญาณว่า วิกฤตในทวีปยุโรปซึ่งถือเป็นทวีปที่เก่าแก่นับวันเลวร้ายลงกว่าที่ได้พยากรณ์ไว้
|
เรือยุโรปกำลังจะอับปางลงในทะเลหนี้สาธารณะ |
ล่าสุดเยอรมนีได้ถูกระบุในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากวิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งเยอรมนีได้ถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป จากการพยากรณ์ของกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีปรากฎว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา การส่งออกซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเยอรมนีมีมูลค่าลดลงร้อยละ ๓.๔ บริษัทรายใหญ่บางแห่งเริ่มเลิกจ้างแรงงาน แม้กระทั่งอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ก็เริ่มมีแววที่จะลดลงโดยผู้ผลิตต้องลดราคาขายเพื่อรักษายอดขาย สิ่งที่น่าสนใจคือ กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีได้เตือนว่า เศรษฐกิจของประเทศจะมีอัตราการขยายตัวชะลอตัวลงในไตรมาสที่ ๔ ของปีนี้และต่อยาวไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของฝรั่งเศสก็กำลังอยู่ริมปากเหวแห่งความถดถอย โดยธนาคารฝรั่งเศสได้คาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ ๔ ของปีนี้ เศรษฐกิจจะมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ๐.๑ ต่อไป
ในสถานการณ์ที่ซบเซาอย่างนี้ รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปที่คณะกรรมการยุโรปหรืออีซีได้ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ได้เติมสีทึบลงในภาพเศรษฐกิจของยุโรป โดยอีซีพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในเขตยูโรโซนซึ่งประกอบด้วย ๑๗ ประเทศสมาชิกจะมีการขยายตัวลดลงร้อยละ๐.๔ในปีนี้เนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังปั่นทอนความเชื่อมั่นและส่งผลให้มีคนว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีซียังระบุว่า ในปี ๒๐๑๔ งบประมาณของสเปนจะขาดดุลพุ่งสูงถึงร้อยละ ๖.๔ เมื่อเทียบกับเป้าหมายร้อยละ ๒.๘ ที่รัฐบาลประเทศนี้ได้กำหนดไว้หรือร้อยละ ๓ ของสหภาพยุโรป ส่วนเยอรมนีในปี ๒๐๑๔ เศรษฐกิจก็จะขยายตัวร้อยละ ๒ เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าการพยากรณ์ของสหภาพยุโรป สำหรับกรีซที่เพิ่งอนุมัติแผนการรัดเข็มขัดครั้งที่ ๔ ในรอบกว่า ๒ ปีที่ผ่านมาก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาคนว่างงานเป็นจำนวนมากเพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยแรงงานหนึ่งในสี่ถูกเลิกจ้าง หนี้สาธารณะเพิ่มสูงถึง ๑๗๐ % และตามการคาดการณ์ของแผนการรัดเข็มขัดครั้งนี้ปรากฎว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒๒๐%ในปี ๒๐๑๖ จากตัวเลขที่น่าเป็นห่วงดังกล่าว นายโอลลี เรห์น กรรมการคณะกรรมการเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปต้องออกมายอมรับว่า ปัจจุบันยังหาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาของยุโรปไม่ได้
วิกฤตหนี้สาธารณะไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศสมาชิกเขตยูโรโซนเท่านั้น หากยังส่งผลต่อการขาดดุลงบประมาณของสหภาพยุโรป ซึ่งเห็นได้ชัดคือ การเจรจาเกี่ยวกับงบประมาณปี ๒๐๑๓ ของสหภาพยุโรปได้ประสบความล้มเหลวเนื่องจากบางประเทศสมาชิกที่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดได้ปฏิเสธสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อประเทศที่ยากจนกว่า โดยคณะกรรมการยุโรปหรืออีซีและรัฐสภายุโรปหรืออีพีได้เสนอให้เพิ่มงบประมาณร้อยละ ๖.๘ หรือประมาณ ๑ แสน ๓ หมื่น ๘ พันล้านยูโรในปี ๒๐๑๓ แต่ประเทศสมาชิกอยากสมทบร้อยละ ๒.๘ เท่านั้น ทั้งอีซีและอีพีต่างยืนยันว่า ต้องการเงินเพิ่มเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของยุโรปที่กำลังถดถอยมีการขยายตัวมากขึ้นและแก้ไขปัญหาคนว่างงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการสมทบเงิน ๘ พัน ๙ ร้อยล้านยูโรที่ได้ใช้ในปี ๒๐๑๒แล้ว ประเทศผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ให้เหตุผลว่า จะไม่สามารถสมทบเงินได้อีกในขณะที่ประชาชนของเขาต้องดำเนินชีวิตแบบรัดเข็มขัด ส่วนกระแสประชามติได้แสดงความวิตกว่า หากทุกฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องเงินสมทบเข้างบประมาณอียูก็จะไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้
การที่รายชื่อประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะเพิ่มจำนวนมากขึ้นรวมถึงประเทศที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตกลงกันในเรื่องงบประมาณของสหภาพยุโรปนั้นดูเหมือนว่า มรสุมด้านการเงินยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทวีปนี้ ./.