(VOVWorld)-จังหวัดนิงถวนตั้งอยู่ในเขตริมฝั่งทะเลภาคกลางตอนใต้ของเวียดนามและเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากปัญหาภัยแล้ง ในหลายปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ดังนั้น เพื่อจำกัดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หน่วยงานการเกษตรของจังหวัดนิงถวนได้กำชับให้บรรดาเกษตรกรปรับเปลี่ยนโครงสร้างพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
จังหวัดนิงถวนปรับเปลี่ยนโครงสร้างพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง
|
แม้จะอยู่ในเขตที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำเฟือกจุง แต่เมื่อเห็นว่า การปลูกข้าวไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ในฤดูข้าวนาปี๒๐๑๖ นาย กาววัก หมู่บ้านหมีเหียบ ตำบลหมีเซิน อำเภอนิงเซินก็ได้เปลี่ยนมาปลูกถั่วเขียวในพื้นที่๑,๐๘๐ตารางเมตร โดยสามารถเก็บถั่วเขียวได้๖๐๐กิโลกรัม นาย กาววักได้เผยว่า “ในฤดูกาลนี้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำทำให้สามารถเก็บถั่วเขียวได้๑๕๐กิโลกรัมต่อพื้นที่๓๖๐ตารางเมตร แต่ถ้าหากมีน้ำเพียงพอก็จะสามารถเก็บถั่วเขียวได้๒๐๐กิโลกรัม การปลูกถั่วเขียวมีรายได้ดีกว่าการปลูกข้าว ”
ที่ตำบลหญิห่า อำเภอถวนนาม ในฤดูข้าวนาปี การเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกถั่วเขียวในพื้นที่๔๐เฮกตาร์ได้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร นี่เป็นครั้งแรกที่เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเขียวและถึงแม้จะขยายพื้นที่ปลูก โดยยังไม่ได้เน้นเทคโนโลยีแต่ก็ยังได้ผลผลิตสูงถึง๑๕๐กิโลกรัมต่อพื้นที่๑เฮกตาร์ นางหวอหญือเซิน ประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลหญิห่า อำเภอถวนนาม จังหวัดนิงถวนได้เผยว่า“จนถึงขณะนี้ ผลผลิตจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพันธุ์พืชไม่สูงนักแต่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าได้ หวังว่า หน่วยงานการเกษตรจะช่วยเหลือด้านเทคนิคให้แก่ท้องถิ่นเพื่อทำให้การปลูกถั่วเขียวสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและขยายผลรูปแบบการปลูกถั่วเขียว”
นายบุ่ยกวางแถ่ง ตำบลแค้งเฟือกปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกหญ้าเพื่อปศุสัตว์
(Photo: tienphongnongsan)
|
ผลเบื้องต้นของการเปลี่ยนการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกถั่วเขียวในท้องถิ่นได้แสดงให้เห็นว่า ถั่วเขียวเป็นพืชที่ดูแลง่ายและทนแล้งได้ดีและถ้าหากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก็สามารถเพิ่มผลผลิตถั่วเขียวได้ถึง๒๘๐กิโลกรัมต่อพื้นที่๓๖๐ตารางเมตร นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเขียวยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างมั่นคง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกถั่วเขียวในฤดูข้าวนาปีถือว่า เหมาะสมกับฤดูกาลและตลาด นาย เจิ่นก๊วกนาม รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดนิงถวนได้เผยว่า“นี่เป็นช่วงแรกที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกถั่วเขียวตามแนวทางการปรับตัวให้อยู่รอดจากภาวะภัยแล้งและการประหยัดน้ำและช่วยเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกให้แก่เกษตรกร พวกเราจะเน้นกำชับให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนโครงสร้างพันธุ์พืชอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิต”
ในฤดูข้าวนาปีนี้ เกษตรกรจังหวัดนิงถวนได้หันมาปลูกพืช๓อย่างคือ ข้าวโพด ถั่วเขียวและหญ้าเพื่อการปศุสัตว์ โดยถั่วเขียวได้รับการปลูกมากที่สุด สถานการณ์ภัยแล้งที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทำให้ท้องถิ่นต่างๆของจังหวัดนิงถวนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดสรรน้ำและจัดระเบียบที่ดินในการปลูกพืชต่างๆเพื่อจำกัดพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง.