หมู่บ้านทำงอบฟู้ยา – สถานที่อนุรักษ์อาชีพหัตถกรรมพื้นเมืองทำงอบของจังหวัดบิ่งดิ่ง

Thanh Thắng; Lê Phương
Chia sẻ
(VOVWORLD) - หมู่บ้านศิลปาชีพทำงอบฟู้ยา (Phú Gia) ในอำเภอฝู่ก๊าต (Phù Cát) จังหวัดบิ่งดิ่ง  (Bình Định) เป็นหนึ่งในหมู่บ้านศิลปาชีพเก่าแก่ งอบฟู้ยาได้รับการขนานนามว่า เป็น “ผลงานชิ้นเอก” ของงอบเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และเต็มไปด้วยร่องรอยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกษัตริย์กวางจุงจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด “อาชีพทำงอบฟู้ยา” ได้รับการรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติโดยกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่ยังคงอนุรักษ์อาชีพพื้นเมืองจนถึงทุกวันนี้
หมู่บ้านทำงอบฟู้ยา – สถานที่อนุรักษ์อาชีพหัตถกรรมพื้นเมืองทำงอบของจังหวัดบิ่งดิ่ง - ảnh 1 หมู่บ้านศิลปาชีพทำงอบฟู้ยาได้รับการรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติโดยกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยว (VTC)

 

หมู่บ้านทำงอบฟู้ยาในตำบลก๊าตเตื่อง อำเภอฝู่ก๊าต อยู่ห่างจากตัวเมืองกวีเญินประมาณ 35 กม. มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งและพัฒนายาวนานเกือบ 300 ปีของจังหวัดบิ่งดิ่ง ผลิตภัณฑ์งอบฟู้ยาไม่ใช่งอบธรรมดา หากยังเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของนักสู้และมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์แห่งกองทัพไตเซิน

งอบฟู้ยาเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ช่างศิลป์ของหมู่บ้านเผยว่า เหตุผลที่ผู้คนเรียกว่าน้อนเหงือหรืองอบม้า เนื่องจากงอบมีความยืดหยุ่นและทนทานเหมือนม้า นอกจากนี้ ในอดีต ยังมีการทำงอบม้าฟู้ยาให้แก่ชนชั้นสูงและขุนนางสำหรับใส่ในขณะขี่ม้า หรืองอบที่ตกแต่งด้วยเงินและมีรูปแกะสลักมังกรและนกฟีนิกซ์อยู่บนงอบที่นายพลสวมบนศีรษะในขณะขี่ม้าเพื่อแสดงอำนาจบารมีในสมัยศักดินา ดังนั้น งอบของหมู่บ้านศิลปาชีพฟู้ยาจึงมีชื่อเสียงเกี่ยวกับลวดลายที่ซับซ้อนและหรูหราซึ่งหาได้ยากจากที่อื่น โดยเฉพาะ ลวดลายเกี่ยวกับดอกไม้ เช่น ดอกเหมย ดอกกล้วยไม้ ดอกเบญจมาศ ต้นไผ่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงามและความซับซ้อน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของ 4 ฤดูกาล งอบแต่ละใบที่ผลิตโดยชาวบ้านถือเป็นความทุ่มเทตั้งใจของพวกเขา นาย โด๋วันลาน ผู้ที่ประกอบอาชีพทำงอบมานานกว่า 60 ปีในหมู่บ้านฟู้ยา ตำบลก๊าตเตื่อง เผยว่า

“การทำงอบม้ายากมากเนื่องจากต้องทำด้วยมือทั้งหมด และมีถึง 10 ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการปักลวดลายเพื่อให้ได้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์”

ปัจจุบัน หมู่บ้านศิลปาชีพทำงอบฟู้ยามีเกือบ 110 ครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำงอบ และมีแรงงานกว่า 300 คน ซึ่งสามารถผลิตงอบได้ 3,300 ใบต่อปี งอบม้าฟู้ยาเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ดังนั้น การทำงอบต้องมีความพิถีพิถันและต้องผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การทำโครงงอบ การทำรังงอบและการเย็บงอบ แต่ละกลุ่มจะมีความรับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะตัว งอบจึงมีราคาตั้งแต่ 300,000 - 500,000 ด่งต่อใบ สำหรับงอบที่ทำอย่างพิถีพิถันและต้องใช้เวลาหลายเดือน มีราคาประมาณ 2.5 ล้านด่งต่อใบ นาง หวิ่งถิห่ง ในตำบลก๊าตเตื่อง อำเภอฝู่ก๊าต เผยว่า

“ชาวบ้านทุกคนรักอาชีพทำงอบมาก ในอดีต อาชีพนี้ช่วยเลี้ยงคนในครอบครัว การประกอบอาชีพทำงอบทำให้เรามีเงินส่งลูกไปโรงเรียน”

ปัจจุบัน นอกจากงอบม้าแบบดั้งเดิมแล้ว ช่างศิลป์ยังทำงอบที่มีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ งอบม้าฟู้ยามีจำหน่ายในสถานที่หลายแห่งรวมทั้งส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ นอกจากนี้ หมู่บ้านทำงอบฟู้ยายังกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของจังหวัดบิ่งดิ่งด้วย

หมู่บ้านทำงอบฟู้ยา – สถานที่อนุรักษ์อาชีพหัตถกรรมพื้นเมืองทำงอบของจังหวัดบิ่งดิ่ง - ảnh 2งอบฟู้ยาเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา “อาชีพทำงอบม้าฟู้ยา” ได้รับการรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติ ซึ่งได้นำความสุขและความภาคภูมิใจมาสู่ชาวบ้าน รวมทั้งช่างศิลป์ในหมู่บ้าน นาย โด๋วันลาน แสดงความเห็นว่า

“ชาวบ้านมีความสุขมากที่อาชีพทำงอบฟู้ยาได้รับการรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติ นี่จะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้ครอบครัวของผมและชาวบ้านฟู้ยาพัฒนา ส่งเสริมและผลิตงอบที่สวยงามมากขึ้น เพื่อมีส่วนร่วมอนุรักษ์หมู่บ้านศิลปาชีพทำงอบฟู้ยา”

คณะกรรมการประชาชนจังหวัดบิ่งดิ่งเผยว่า การที่อาชีพทำงอบฟู้ยาได้รับการรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติได้ยืนยันถึงคุณค่าที่ยั่งยืนและพลังชีวิตที่เข้มแข็งของหมู่บ้าน การยกย่องสดุดีเขตชุมชน โดยเฉพาะช่างศิลป์ในการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่ามรดก นาย เลิมหายยาง รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดบิ่งดิ่งเผยว่า ในเวลาที่จะถึง อำเภอฝู่ก๊าตและจังหวัดบิ่งดิ่งจะออกการวางผังแบบบูรณาการสำหรับหมู่บ้านศิลปาชีพเพื่ออนุรักษ์และพัฒนา สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านศิลปาชีพกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

“เราจะจัดทำและปฏิบัติมาตรการ กลไกและนโยบายเพื่อสนับสนุนช่างศิลป์ในการอนุรักษ์และสืบทอดอาชีพ  ต้องถือช่างศิลป์เป็นสมบัติของชาติ จากนั้นก็จะมีนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสม อีกทั้ง จัดกิจกรรมเพื่อยกย่องสดุดีบุคคลและเขตชุมชนที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ การปกป้องและการส่งเสริมคุณค่าทางมรดก”

ตามรายงานของคณะกรรมการประชาชนของจังหวัดบิ่งดิ่ง การที่อาชีพทำงอบฟู้ยาได้รับการรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติได้ยืนยันถึงคุณค่าที่ยั่งยืนและพลังชีวิตที่เข้มแข็งของหมู่บ้าน ยกย่องสดุดีเขตชุมชน โดยเฉพาะช่างศิลป์ในการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าของมรดก.

Feedback