(VOVworld)-ในวิถีชีวิตวัฒนธรรม ชนเผ่าไย้ได้สร้างคลังศิลปะแห่งเพลงพื้นเมือง สํานวน สุภาษิตและคำพังเพยที่เล่าเรื่องต่างๆเกี่ยวกับปรากฎการณ์ของธรรมชาติและสังคม โดยที่น่าสนใจที่สุดคือเพลงพื้นบ้านของชาวไย้ซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของชาวบ้านเป็นจำนวนมากเมื่อถึงงานชุมชนสำคัญต่างๆ
|
เพลงพื้นเมืองชนเผ่าไย้มีหลายประเภทแต่เนื้อหาส่วนใหญ่บรรยายเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านในเขตเขา ความงดงามของธรรมชาติ ความรักของหนุ่มสาว เพลงเพื่อชีวิตที่เกี่ยวข้องกับทั้งคนรวยและคนจน เป็นต้น แต่ที่ถือว่าได้รับการขับร้องและเผยแพร่มากที่สุดคือ “เวือนฮ้าหลาน”หรือการร้องเพลงในงานเลี้ยง “เวือนจังห่าม” หรือการร้องเพลงแสดงความรักและ “เวือนสรองรัน” หรือเพลงอำลา โดยเพลงเหล่านี้มักจะร้องในกิจกรรมสังคมต่างๆไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานเทศกาล งานศพหรืองานพบปะสังสรรค์ของหนุ่มสาว นายเสิ่นช้าง ผู้ที่สะสมเพลงพื้นเมืองไย้ที่ลาวกายเผยว่า เฉพาะการร้องเพลงในงานแต่งงานก็มีตั้ง3แบบ“ในงานเลี้ยงที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อนๆจะร้องเพลงเพื่อแสดงความอาลัยอาวรที่ต้องส่งเพื่อนสาวไปแต่งงานอยู่ที่อื่น ต่อจากนั้นแม่ของเจ้าสาวหรือพี่ป้าน้าอาก็ร้องเพลงที่มีเนื้อความสั่งสอนให้ลูกหลานต้องทำตัวให้เรียบร้อย รู้จักเคารพผู้ใหญ่และดูแลครอบครัวของสามี ขยันทำงานบ้านและรักสามีอย่างจริงใจ ส่วนเจ้าสาวอาจจะร้องตอบเพื่อเป็นการขอบคุณพ่อแม่ที่ได้เลี้ยงดูเธอเติบโตมาจนถึงวันนี้ เมื่อฝ่ายชายมาถึงประตูบ้านก็มีการร้องเพลงขอเข้าบ้านและทั้งสองฝ่ายชายหญิงจะร้องตอบโต้กันสักพักถึงจะเปิดประตูให้เข้ารับเจ้าสาวไป”
การร้องเพลงส่งเจ้าสาวในงานแต่งงานของชาวไย้ถือเป็นประเพณีอันดีงามที่ยังคงได้รับการรักษาและปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเนื้อร้องได้รับการพัฒนาเสริมสร้างให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับยุคสมัย ส่วนสำหรับงานเทศกาลต่างๆเพลงพื้นเมืองไย้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจขาดได้ โดยลีลาเนื้อร้องของเพลงได้ซึมซับและฝังลึกอยู่ในใจของชาวไย้แต่ละคนและได้แสดงออกผ่านจิตสำนึกและความสัมพันธ์ในชุมชน ความปรารถนาที่ฝากถึงชนรุ่นต่างๆให้มีความขยันหมั่นเพียรหากเป็นหญิงต้องรู้จักเย็บปักถักร้อยและตำข้าว ถ้าเป็นชายจะต้องรู้จักทำครัว จักสานและทำนา
เพลงพื้นเมืองไย้
รูปแบบการร้องเพลงพื้นเมืองในวิถีชีวิตชาวไย้นั้นมีความหลากหลายแต่ที่ถือว่านิยมที่สุดคือการร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง ซึ่งเป็นการทำความรู้จักกันที่เปรียบเสมือนเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงชื่อเสียงของหมู่บ้านและมิตรไมตรีที่ดีต่อแขกที่มาเยี่ยม นายเสิ่นช้างอธิบายว่า“ถ้ามีแขกมาเที่ยวบ้าน2-3วันแต่ไม่มีใครร้องเพลงอำลาก็จะถูกตำหนิว่าไม่มีมารยาท การร้องเพลงนั้นจะมีขึ้นเฉพาะตอนกลางคืนและสามารถร้องสองสามวันติดต่อกันแต่จะไม่ใช้เพลงที่ซ้ำกัน เช่นอันดับแรกคือเพลงขออนุญาตเจ้าของบ้านเข้าไปสวัสดีแขกในบ้าน ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบและเชิญมาดื่มชา ต่อจากนั้นก็ถึงคิวแขกร้องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านก่อนที่ร้องเพลงอวยพรครอบครัวสุดท้ายถึงจะมีการร้องเพลงโต้ตอบกันได้ จนถึงเที่ยงคืนจะมีเพลงเกี่ยวกับความงดงามในยามราตรี เพลงเกี่ยวกับพระจันทร์เกี่ยวกับดอกไม้ เมื่อถึงเวลารุ่งเช้าก็มีเพลงเกี่ยวกับไก่ขันและเพลงบรรยายช่วงฟ้าสว่าง”
แม้ทำนองเนื้อร้องของเพลงพื้นเมืองไย้จะมีความเรียบง่ายที่แฝงไว้ซึ่งภาพของธรรมชาติที่มีทั้งดินฟ้าอากาศดวงดาว ดวงจันทร์หรือพืชพันธุ์ต่างๆ แต่เพลงทุกเพลงล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาและความรักระหว่างมนุษย์ เป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคนในชุมชนให้มีความสามัคคีกันเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่สันติสุข./.