ชนเผ่าไทในจังหวัดเซินลากับประเพณีการร้องเพลงส่งลูกเขยรับลูกสะใภ้

Đức Anh -VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในอดีตนั้น ตามประเพณีของชนเผ่าไทที่จังหวัดเซินลา เมื่อบ้านไหนมีลูกชายแต่งงานจะต้องมาอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงอย่างน้อย2-ปีถึงจะพาลูกสะใภ้กลับบ้านฝ่ายชายได้ มาจนถึงปัจจุบัน แม้ประเพณีที่ล้าหลังนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตามเดิมแต่ชาวบ้านยังคงรักษาประเพณีที่เรียกตามภาษาชนเผ่าคือ“khắp xống khươi, tỏn pạư”  คือการร้องเพลงส่งลูกเขยและรับลูกสะใภ้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในวัฒนธรรมพื้นเมืองของชาวเผ่าไทในท้องถิ่น.

ชนเผ่าไทในจังหวัดเซินลากับประเพณีการร้องเพลงส่งลูกเขยรับลูกสะใภ้ - ảnh 1ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายชายหญิงร่วมเป็นพยานในการร้องโต้ตอบ

 

ก่อนเข้างานเลี้ยงแต่งงานที่สำคัญ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต่างก็เลือกพ่อสื่อแม่สื่อมาเป็นตัวแทนเพื่อร้องเพลงโต้ตอบกัน โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนนำการร้องโต้ตอบนั้นจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้แต่ต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการสื่อสารและร้องเพลงได้ดี การร้องโต้ตอบต้องจัดขึ้นในบ้านโดยมีแขกที่ได้รับเชิญและญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายชายหญิงร่วมเป็นพยาน นาย เกิ่มวุย ศิลปินยอดเยี่ยมชนเผ่าไท ที่อำเภอเหมื่องลา จังหวัดเซินลา ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับเชิญเป็นพ่อสื่อให้แก่งานแต่งหลายสิบงานเผยว่า ขั้นตอนแรกคือการร้องเพลงส่งลูกเขย “khắp xống khươi” โดยเมื่อพ่อสื่อพาลูกเขยมาแนะนำตัวที่บ้านฝ่ายหญิงก็จะมีการร้องแทนคำสวัสดีและคำอวยพรที่ดีงามต่อครอบครัวของฝ่ายหญิง หลังจากนั้นผู้ที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อรับหน้าที่เป็นตัวแทนสองฝ่ายจะเริ่มร้องเพลงโต้ตอบกันที่มีเนื้อร้องสะท้อนความรักและความกตัญญูต่อผู้ที่เป็นบุพการีเลี้ยงดูและสอนงานบ้านงานเรือน สอนให้เป็นลูกผู้ชายที่เก่งเป็นลูกผู้หญิงที่ดี “ขอขอบคุณพ่อแม่พี่น้องฝ่ายหญิงที่ต้อนรับฝ่ายชายอย่างอบอุ่นและอนุญาตให้ฝ่ายชายสู่ขอลูกสาวในครอบครัว ตั้งแต่บัดนี้ขอสัญญาว่าจะเป็นลูกเขยที่ดีของครอบครัว เป็นสามีที่ซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว ขอที่จะได้อยู่บ้านด้วยกัน นอนร่วมเตียงและเสื้อผ้าได้ตากข้างๆกัน จากนี้ ฝากให้พ่อแม่ของเจ้าสาวและครอบครัวฝ่ายหญิงรับเป็นลูกหลานในบ้าน รักและดูแลอบรมบ่มสอนให้ลูกเขยเป็นคนดี”

เมื่อถึงวันรับเจ้าสาวก็จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องร้องเพลงรับลูกสะใภ้ “ Khắp tỏn pặư”  โดยฝ่ายหญิงจะร้องเพลงตอบแทนฝ่ายชาย ขอให้ฝ่ายชายขึ้นบันไดมารับเจ้าสาวขึ้นบ้าน หลังจากทั้งขบวนขึ้นบ้านเรียบร้อยก็จะมีการร้องเพลงโต้ตอบกันต่อไปเพื่อแสดงความขอบคุณและขอมอบเจ้าสาวให้แก่ฝ่ายชายอย่างเป็นทางการ มอบของหมั้นและสินสอดให้แก่ครอบครัวของฝ่ายชายเช่น ผ้าห่ม หมอน ผ้าเปียว ซึ่งเป็นสิ่งของที่เจ้าสาวทำเองเพื่อเป็นการแสดงความเคารพรักต่อพ่อแม่ของสามีและก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณสมบัติของการเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี“วันนี้ฝ่ายหญิงกับสามีได้นำของขวัญกลับบ้านของฝ่ายชาย ต้องข้ามเขาข้ามป่าข้ามลำธารเพื่อมาถึงบ้าน เมื่อเห็นบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์และพัฒนาคึกคักก็ดีใจ กลับถึงบ้านแล้วก็รอคุณพ่อของสามีเปิดประตูต้อนรับลูกสะใภ้ ส่วนคุณแม่สามีจะมารับขึ้นบันได9ขั้นที่ทำจากไม้เนื้อหอม มาเป็นสะไภ้บ้านสามีจะต้องทำตัวให้สมกับบทบาทของแม่ศรีเรือนที่ดี”

หลังเพลงแต่ละบทจบลงผู้นำเพลงจะหยุดร้องเพื่อเชิญแขกที่มาร่วมงานร่วมดื่มฉลอง อวยพรให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตคู่ที่เปี่ยมด้วยความสุข การร้องโต้ตอบในงานแต่งงานระหว่างสองฝ่ายได้ดำเนินต่อไปทั้งวันทั้งคืน นางก่าถิฮวาน ศิลปินด้านวัฒนธรรมของเผ่าไทในจังหวัดเซินลาเผยว่า “ดิฉันคุ้นเคยกับการร้องเพลงส่งลูกเขยรับลูกสะไภ้นี้มาแต่เด็ก เมื่อได้ร่วมงานแต่งงานและได้ฟังพ่อสื่อแม่สื่อของสองฝ่ายชายหญิงดังนั้นจึงมีความเข้าใจในเอกลักษณ์ที่งดงามของวัฒนธรรมชนเผ่าตนและยิ่งศึกษาค้นคว้าก็ยิ่งรักและจะพยายามฝึกร้องฝึกปฏิบัติประเพณีนี้เพื่อสืบสานต่อไป”

ด้วยความหมายที่ลึกซึ้งของการร้องเพลง “khắp xống khươi, tỏn pạư”  ส่งลูกเขยและรับลูกสะใภ้ ประเพณีนี้จึงผูกพันกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนและถือเป็นมรดกที่ชนเผ่าไทในจังหวัดเซินลารุ่นแล้ว รุ่นเล่าได้สืบสานและสืบทอดต่อกันมาตราบนานเท่านาน.

คำติชม