การประชุมสภารัฐมนตรี OECD

Quang Dung
Chia sẻ
(VOVWORLD) - การประชุมสภารัฐมนตรีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ปีนี้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสโดยเน้นอภิปรายเกี่ยวกับมาตรการเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ปัญญาประดิษฐ์และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
การประชุมสภารัฐมนตรี OECD - ảnh 1บรรดาผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรี OECD ปี 2024

จากการเป็นฟอรั่มระดับสูงสุดของ OECD การประชุมสภารัฐมนตรี OECD หรือ MCM ปีนี้ซึ่งมีญี่ปุ่นและเม็กซิโกร่วมเป็นประธาน และมีเป้าหมายจะกลายเป็นผู้เดินหน้าในการอภิปรายระดับโลกผ่านวิธีการเข้าถึงปัญหาด้วยภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือเพื่อมุ่งสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม

ยกระดับบทบาทของ OECD

ในตลอด 2 วันของการประชุม MCM บรรดาผู้แทนได้เข้าร่วมประชุมสำคัญๆ ได้แก่ การเผยแพร่รายงานศักยภาพเศรษฐกิจโลกของ OECD การส่งเสริมการบริหารจัดการด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ครอบคลุมและเป็นสากล การเพิ่มประสิทธิภาพของปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกและการสนทนาระดับรัฐมนตรีฟอรั่มว่าด้วยวิธีการเข้าถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือ IFCMA ในการกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม นาย มาเธียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD ได้ยืนยันว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยความท้าทายใหญ่ๆ ที่อาจกำหนดแนวทางการพัฒนาในอนาคตของหลายประเทศ เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ การเพิ่มขึ้นของลัทธิกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงของการหยุดชะงักและแบ่งแยกด้านเทคโนโลยี ดังนั้น บทบาทและภารกิจของ OECD ในการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในการร่วมวางนโยบายเพื่อโลกที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่เร่งด่วนอย่างยิ่ง

 “เราเน้นถึงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรมมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เรายังเน้นความพยายามมีการนำที่จำเป็นเพื่อรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ”

นอกจากการส่งเสริมการอภิปรายและความร่วมมือในการจัดทำนโยบายแล้ว OECD ยังย้ำถึงการเพิ่มการปรากฏตัวของ OECD ผ่านการรับประเทศสมาชิกใหม่และขยายโครงการความร่วมมือกับประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งนาย มาเธียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เผยว่า ขณะนี้ OECD กำลังดำเนินกระบวนการพิจารณาเพื่อรับสมัคร7ประเทศที่ขอเข้าเป็นสมาชิก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย บราซิล อาร์เจนตินา เปรู โรมาเนีย บัลแกเรียและโครเอเชีย นอกจากนี้ ประเทศไทยก็กำลังแสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วม OECD ด้วย

ในวันแรกของการประชุม MCM ในฐานะประธานการประชุม นาย ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศความคิดริเริ่มในการสร้างกรอบทางนิตินัยระหว่างประเทศใหม่เพื่อควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิด(Generative AI) อีกทั้ง  ย้ำถึงการธำรงความเป็นระเบียบของเศรษฐกิจที่เสรีและเป็นธรรม ตลอดจนความจำเป็นของการที่ OECD ขยายความสัมพันธ์หุ้นส่วนและการสนทนากับประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรนี้

การประชุมสภารัฐมนตรี OECD - ảnh 2 นาย มาเธียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม

มองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการเติบโตทั่วโลก

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในกรอบ MCM ปีนี้คือการประกาศรายงานล่าสุดเกี่ยวกับศักยภาพเศรษฐกิจโลกของ OECD โดยปรับขึ้นการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ร้อยละ 2.9 ในการอธิบายเกี่ยวกับการคาดการณ์นี้ นาย มาเธียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD ได้เผยว่า  หนึ่งในเหตุผลหลักคือการเติบโตในเชิงบวกของ2เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐและจีน โดย OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตร้อยละ 2.6 ในปีนี้ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านั้นที่ร้อยละ 2.1  และการเติบโตร้อยละ 2.5  ของปีที่แล้ว สำหรับเศรษฐกิจจีน OECD ได้เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับตัวเลขร้อยละ 4.7 ที่ประกาศก่อนหน้านี้ บนพื้นฐานนโยบายงบประมาณของจีน  สำหรับเขตยูโรโซน OECD คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 0.1เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านั้น ซึ่งเมื่อกล่าวถึงภาพรวม นาย มาเธียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เห็นว่า แนวโน้มของการมองโลกในแง่ดีด้วยความระมัดระวังต่อเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความสดใสมากขึ้น “ปัจจุบัน เหตุผลที่ทำให้เกิดกระแสการมองโลกในแง่ดียังคงปรากฎให้เห็นในไตรมาสหน้า ถึงแม้ว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดยังคงส่งผลกระทบในหลายส่วน โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกยังค่อนข้างมั่นคง ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ลดลงกลับสู่ในระดับที่ธนาคารกลางต่างๆตั้งไว้ และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกก็มีความสมดุลมากขึ้น”

แต่อย่างไรก็ตาม นาง แคลร์ ลอมบาร์เดลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD ได้เตือนว่า เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหญ่ๆ รวมทั้งความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งทำให้รายได้และกำลังซื้อของประชาชนลดลง.

คำติชม