ปาเลสไตน์บรรลุความก้าวหน้าใหม่ในกระบวนการเป็นสมาชิกของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ

Quang Dung- VOV5
Chia sẻ

(VOVWORLD) -เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ลงคะแนนอนุมัติมติที่เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณาการรับรัฐปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งบรรดาผู้สังเกตการณ์เห็นว่าในสภาวการณ์ที่การปะทะในฉนวนกาซานับวันซับซ้อนมากขึ้นนั้น การรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของสหประชาชาติและปฏิบัติมาตรการ 2 รัฐอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นทางออกเดียวเพื่อนำสันติภาพมาให้แก่ภูมิภาคตะวันออกกลาง

ในการประชุมฉุกเฉินพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซาและสมาชิกภาพของปาเลสไตน์ ด้วยเสียงสนับสนุน 143 เสียง คัดค้าน 9 เสียงและงดออกเสียง 25 เสียง สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้อนุมัติมติที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยื่นเสนอ ซึ่งประกาศว่า รัฐปาเลสไตน์มีเงื่อนไขเพียงพอเพื่อเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ พร้อมทั้งเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณากระบวนการนี้

การสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น

มติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่ก็ถือเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์ครั้งใหญ่ของปาเลสไตน์ เป็นการยืนยันถึงแนวโน้มการสนับสนุนปาเลสไตน์ที่นับวันเพิ่มขึ้นในโลก โดยก่อนอื่น ปาเลสไตน์จะได้รับสิทธิมากขึ้นนับตั้งแต่การประชุมครบองค์ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติหรือ UNGA ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ เช่น มีสิทธิ์ออกประกาศในนามกลุ่ม ยื่นแก้ไขและเสนอเนื้อหาในระเบียบวาระการประชุมชั่วคราวในการประชุมประจำเดือนหรือการประชุมวิสามัญ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากไม่ใช่สมาชิกโดยสมบูรณ์ ปาเลสไตน์ยังไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเข้าชิงตำแหน่งในสำนักงานต่างๆของสหประชาชาติ เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติหรือ ECOSOC

การที่ปาเลสไตน์ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากบรรดาประเทศสมาชิกของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ  เพราะบรรดาประเทศอาหรับและประเทศที่กำลังพัฒนาในกลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ยืนหยัดสนับสนุนการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์และการที่ปาเลสไตน์กลายเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ของสหประชาชาติ การปะทะในฉนวนกาซาที่ทำให้ประชาชนกว่า 3 หมื่น 5 พันคนเสียชีวิตนับจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมได้มีส่วนร่วมผลักดันการสนับสนุนดังกล่าว สิ่งที่น่าสนใจคือ ความดุเดือดของยุทธนาการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาได้สร้างกระแสการสนับสนุนปาเลสไตน์ในประชามติของบรรดาประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิสราเอล สร้างแรงกดดันให้แก่รัฐบาลประเทศตะวันตกในการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการสนับสนุนปาเลสไตน์ในสหประชาชาติ นาย Nicolas de Riviere เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติได้เผยว่า

"ฝรั่งเศสลงคะแนนสนับสนุนร่างมติที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยื่นเสนอเพื่อมอบสิทธิมากขึ้นให้แก่ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นรัฐสังเกตการณ์ในกรอบของสหประชาชาติ ฝรั่งเศสสนับสนุนปาเลสไตน์ให้กลายเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของสหประชาชาติ นี่คือสาเหตุที่พวกเราลงคะแนนสนับสนุนร่างมติเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของปาเลสไตน์ที่แอลจีเรียยื่นเสนอในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ก่อน”

นางสาว เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเห็นว่า การที่ออสเตรเลียสนับสนุนมติดังกล่าวของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สมาชิกภาพแก่ปาเลสไตน์เนื่องจากอยากส่งเสริมสันติภาพในสภาวการณ์ที่กระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ถูกชะงักงันในหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

“การลงคะแนนนี้จะไม่สามารถช่วยยุติการปะทะได้เพราะยืดเยื้อเป็นเวลานานแล้วแต่พวกเราต้องทำทุกสิ่งเพื่อนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคนี้”

สิ่งที่ขัดขวางในระยะยาว

แม้ได้บรรลุก้าวเดินใหม่ในการเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ของสหประชาชาติแต่อุปสรรคที่ปาเลสไตน์ต้องเผชิญในเวลาที่จะถึงยังซับซ้อนมาก ในจำนวน 9 ประเทศที่ลงคะแนนคัดค้าน รวมไปถึงสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลและเป็นหนึ่งใน 5 สมาชิกถาวรที่มีสิทธิวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ          ตามกฎบัตรสหประชาชาติ การรับสมาชิกใหม่ต้องได้รับการสนับสนุนจาก 9 ประเทศในจำนวนสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งหมด 15 ประเทศและไม่มีสมาชิกถาวรใช้สิทธิวีโต้ ต่อจากนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจาก 2 ใน 3 ประเทศสมาชิกของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ดังนั้น การลงคะแนนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมช่วยปาเลสไตน์บรรลุ 1 เงื่อนไขคือได้รับการสนับสนุนจาก 2 ใน 3 ประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเท่านั้นแต่ยังไม่ผ่านอุปสรรคใหญ่คือการใช้สิทธิวีโต้ของสหรัฐ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 18 เมษายน ในการลงคะแนนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ สหรัฐได้ใช้สิทธิวีโต้

สำหรับการตัดสินใจดังกล่าว นาย Robert Wood  เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติเผยว่า สหรัฐสนับสนุนมาตรการสองรัฐอยู่ร่วมกันอย่างสันติแต่เห็นว่า การจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ต้องมาจากผลการเจรจาโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ 

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจไบเดนพูดอย่างชัดเจนว่า การบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาคต้องมาจากมาตรการสองรัฐอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งความมั่นคงของอิสราเอลต้องได้รับการค้ำประกันและประชาชนอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ดังนั้น จุดยืนของสหรัฐคือมาตรการเพียงฝ่ายเดียวในสหประชาชาติและในภาคสนามจะไม่สามารถผลักดันการบรรลุเป้าหมายนี้”

 ในระยะยาว บรรดาผู้สังเกตการณ์เห็นว่า ปาเลสไตน์จะไม่สามารถฟันฝ่าการใช้สิทธิวีโต้ของสหรัฐจนกว่าการปะทะในฉนวนกาซาจะยุติลง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆนี้ ปาเลสไตน์ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศตะวันตกในการผลักดันมาตรการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มีสิทธิต่างๆอย่างสมบูรณ์ในสหประชาชาติ ปัจจุบัน สเปนและสาธารณรัฐไอร์แลนด์กำลังพยายามเรียกร้องให้ประเทศต่างๆรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเร็วที่สุดคือในวันที่ 21 พฤษภาคมแม้จะถูกคัดค้านจากอิสราเอลก็ตาม.

คำติชม