วสันต์ฤดูเยือนเขตเขาตอนบนเพื่อฟังตำนานของแคนม้ง

To Tuan/VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในช่วงวสันต์ปีใหม่ พร้อมกับงานเทศกาลรื่นเริงและการละเล่นพื้นเมืองต่างๆที่จัดขึ้นในหลายท้องถิ่น การรำแคนได้ถือเป็นจิตวิญญาณของชุมชนเผ่าม้งในเขตเขาตอนบนของเวียดนามเพื่อสะท้อนความในใจต่อชุมชนและธรรมชาติ แคนเป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าอย่างเด่นชัด เพราะตำนานที่มาของแคนม้งได้แฝงไว้ซึ่งเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับความสามัคคีในชุมชนและความผูกพันเหมือนพี่น้องร่วมใส้ของชนเผ่าม้ง
วสันต์ฤดูเยือนเขตเขาตอนบนเพื่อฟังตำนานของแคนม้ง - ảnh 1การแสดงแคนได้ปรากฎในงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆและประกอบกับท่ารำที่มีความอ่อนช้อยสวยงามโดยเรียกว่า รำแคน (bienphong.vn)

ตั้งแต่โบราณกาล แคน คือเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่สำคัญในชีวิตจิตใจของชาวม้ง เป็นสมบัติแห่งวัฒนธรรมชนเผ่าและมีความหมายเหมือนเป็นสายสัมพันธ์เชื่อมระหว่างมนุษย์และโลกแห่งจิตวิญญาณ ดังนั้นแม้จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหน แต่เสียงแคนม้ง ก็ยังคงดังขึ้นในชีวิตชุมชนและตำนานเกี่ยวกับแคนม้งก็ได้รับการเล่าขานให้แก่ชนรุ่นหลัง นาย ถ่าวอาเย้น ช่างศิลป์และนักวิจัยวัฒนธรรมม้งได้เผยว่า“แคนม้งมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ผมก็ไม่ทราบแต่เราทราบเรื่องตำนานเกี่ยวกับแคนจากผู้อาวุโสที่เล่าว่า มีบ้านหนึ่งที่มีพี่น้อง7คน พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ลูกๆยังเด็ก บ้านก็ไม่มีอยู่ คนที่เป็นพี่จึงคิดว่าต้องร่วมกันสร้างบ้านหลังหนึ่งเพื่ออยู่ร่วมกัน ต่อจากนั้นก็คิดค้นผลิตเครื่องดนตรีที่ประกอบจากปล้องไม้ไผ่6ปล้องที่เรียกว่าไม้ซางเพื่อทำเป็นลูกแคน โดยปล้องที่ใหญ่และสั้นที่สุดหมายถึงพี่คนโตและน้องคนสุดท้อง ส่วนปล้องไผ่อื่นๆหมายถึงพี่น้องอีก5คนในครอบครัว การประกอบลูกแคนเข้าด้วยกันเป็นการสื่อความหมายว่าพี่น้องทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ครอบครัวและหากมีคนเสียชีวิตไปก็เอาแคนมาเป่าเพื่อเป็นการอำลา”

วสันต์ฤดูเยือนเขตเขาตอนบนเพื่อฟังตำนานของแคนม้ง - ảnh 2แคน คือเครื่องดนตรีประเภทเป่าที่สำคัญในชีวิตจิตใจของชาวม้ง เป็นสมบัติแห่งวัฒนธรรมชนเผ่า 

เรื่องราวเกี่ยวกับพี่น้องชาวม้ง7คนได้สื่อถึงส่วนประกอบของแคนและปล้องไผ่ที่สั้นที่สุดทำหน้าที่ควบคุมจังหวะและโทนเสียง ชาวม้งเป็นคนที่รักดนตรีดังนั้นแคนคือเครื่องดนตรีที่มักจะใช้ในงานชุมชนต่างๆ แต่อันที่จริงแล้วในตอนแรกเเคนถูกใช้ในงานศพเท่านั้นเพื่อเป็นการบอกความอาลัยอาวอนของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อผู้ตาย นอกจากนี้เสียงแคนยังเป็นเสียงนำทางส่งดวงวิญญาณผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์

ปัจจุบันนี้การแสดงแคนได้ปรากฎในงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆและประกอบกับท่ารำที่มีความอ่อนช้อยสวยงามโดยเรียกว่า รำแคน ซึ่งการรำแคนนั้นก็มีหลายท่าและแต่ละท่าจะสื่อความหมายที่แตกต่างกัน เสียงแคนสามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกต่างๆทั้งความรักระหว่างมนุษย์ ความรักธรรมชาติ ความรักของคนในครอบครัว สะท้อนคำอวยพรปีใหม่หรือคำเชื้อเชิญเพื่อนฝูงไปเที่ยวงานเทศกาลวสันต์ฤดู ชาวม้งถือว่า หากเป็นผู้ชายต้องรู้จักเป่าแคนและรำแคนได้หลากหลายท่าและต้องใช้ขาได้อย่างคล่องแคล้ว ซึ่งการรำแคนมีลักษณะแข็งแกร่งเหมือนการแสดงมวยแต่ก็ต้องมีความอ่อนช้อย การฝึกเป่าแคนก็ไม่ง่ายอยู่แล้วและการเป่าและรำพร้อมกันยิ่งยากกว่าหลายเท่าดังนั้นหนุ่มชาวม้งต้องฝึกเป่าแคนรำแคนตั้งแต่เด็กเพื่อที่จะสามารถเล่นได้ดีเมื่อเป็นหนุ่ม ศิลปินรำแคน ลี้วันสิ่ง จากอ.ด่งที จ.ท้ายเหงวียนเผยว่า“ผู้ชายเผ่าม้งถ้าอยากได้รับการรับรองว่าโตเป็นหนุ่มแล้วต้องรู้จักเป่าแคน ผมเองต้องเรียนและฝึกกว่า3ปีถึงจะเป่าได้ เรายังใช้เสียงแคนเพื่อแทนความในใจในการหาเพื่อนหาคู่รัก ซึ่งภรรยาผมก็ชอบผมเพราะเสียงแคนของผมนั่นเอง”

สำหรับชนเผ่าม้ง เสียงแคนเสมือนเสียงแห่งจิตใจที่ที่สะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าตน การรำแคนต่างๆล้วนแต่สะท้อนลีลาเนื้อร้องที่สนุกรื่นเริงและมีความหมายเป็นมงคลเพื่ออวยพรให้ทุกคนมีความสุขและมีความผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น.

Feedback