ประเพณีการไปขอโทษตอนเช้าของชาวเซอดัง

Nhat Lisa-Vinh Phong/VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ในการดำเนินชีวิตนั้นการหลีกเลี่ยงปัญหาการเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งกันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากดังนั้นตั้งแต่โบราณกาล ชนเผ่าเซอดังได้มีประเพณีการไปขอโทษเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาต่างๆระหว่างบุคคล ครอบครัวหรือชุมชนและสิ่งที่พิเศษในการปฏิบัติประเพณีนี้คือต้องปฏิบัติในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นและแม้จะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กแต่ถ้าการไปขอโทษได้ปฏิบัติในตอนเช้าทุกอย่างก็จะได้รับการแก้ไขด้วยดี
ประเพณีการไปขอโทษตอนเช้าของชาวเซอดัง - ảnh 1นักข่าววิทยุเวียดนามพูดคุยกับผู้อาวุโสเกี่ยวกับประเพณีการไปขอโทษตอนเช้าของเผ่าเซอดัง

นายอาดีจา อาศัยที่หมู่บ้าน3 ต.เตินแก๋ง อ.ดั๊กโต จ.กอนตุม เผยว่า ในวิถีชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นการพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ในการทำไร่ทำนาหรือการพบปะสังสรรค์ในงานชุมชนต่างๆก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งหรือการทะเลาะเบาะแว้งได้จนบางทีอาจจะทำให้สองฝ่ายไม่พอใจกัน แต่เมื่อจบเหตุการณ์กลับบ้านพวกเขาก็อาจจะนึกออกว่าสิ่งที่ได้ทำนั้นส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน“ตามประเพณีของเรานั้น การไปขอโทษเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งหากเราทำผิดหรือพูดจาหยาบคายต่อคนอื่นตอนที่อารมณ์ร้อนก็ต้องไปขอโทษเขา คนที่รับคำขอโทษก็จะยกโทษให้แล้วไม่คิดไม่ดีต่อคนที่ทำผิด”

แต่สิ่งที่สำคัญของประเพณีนี้คือต้องไปตอนเช้าโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย นาง อี อุย ชาวต.ดั๊ก เรินกา อ.ดั๊กโต เผยว่า“เมื่อในหมู่บ้านเกิดเรื่องถกเถียงกันระหว่างคนสองคนหรือสองครอบครัว ผู้ที่ทำผิดต้องนำไก่ย่างและเหล้าอุไปขอโทษอีกฝ่ายในตอนเช้าก่อนที่นกป่าจะบินผ่านหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นคนที่มีบทบาทเป็นกลางช่วยไกล่เกลี่ยอธิบายให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจความถูกผิด คนที่ทำผิดต้องสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีก ถ้าโทษหนักอาจต้องถูกปรับตามกฎระเบียบของหมู่บ้านด้วย”

เมื่ออธิบายเกี่ยวกับประเพณีการไปขอโทษกันตอนเช้า นายอาลวย ผู้ใหญ่บ้าน คอนเปา หมู่บ้าน คอนวาง อ.กรงแปก จ.ดั๊กลักกล่าวว่า เวลายามเช้าเป็นช่วงที่มีความหมาย บรรยากาศก็มีความเงียบสงบและอากาศปลอดโปร่ง ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ทุกคนมีความสดใสและสามารถพูดจาอย่างจริงใจ ถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขสองอย่างดังกล่าว บรรดาเทพทั้งหลายถึงจะเป็นพยานรับทราบแล้วคอยประทานพรให้ประสบแต่ความโชคดีให้แก่ทั้งสองฝ่ายและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาใหญ่ที่ยุ่งยาก ดังนั้นการไปขอโทษตอนเช้าล้วนแต่ประสบความสำเร็จและสามารถช่วยสร้างความผูกพันธ์ระหว่างคนในชุมชนหมู่บ้านมากขึ้น นาย อาคาว ชาวบ้าน อีเอมาว ต.อีเอเยียง อ.กรงแปก เล่าตัวอย่างว่า“เมื่อคืนวันก่อน ผมไล่ฝูงวัวเข้าคอกแต่เนื่องจากประตูพังเลยทำให้วัวตัวหนึ่งหนีออกจากคอกไปกินต้นข้าวโพดอ่อนที่ไร่ของนาย บูโอ งอก ตั้งหลายสิบตารางเมตร เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็ไปที่บ้านเขาเพื่อขอโทษพร้อมเงินชดเชยแต่เขาไม่รับ เขาเข้าใจว่าเราไม่จงใจปล่อยวัวไปทำลายไร่คนอื่นๆก็เลยยกโทษให้แล้วบอกว่าต้องดูแลฝูงวัวให้ดีกว่านี้เท่านั้นเอง”

ปัจจุบันแม้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวเผ่าเซอดังยังลำบากมากแต่พวกเขายังคงรักษาประเพณีดังกล่าวแล้วปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยในความรู้สึกนึกคิดของชาวเซอดัง ประเพณีเป็นการตักเตือนให้ทุกคนต้องพยายามทำดี จะไม่มีใครที่สมบูรณ์เต็มร้อยแต่เมื่อทำผิดแล้วต้องสำนึกผิด ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องรู้จักให้อภัยด้วยความเมตตาอารี ชีวิตก็จะดีงามยิ่งขึ้น เราต้องอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ดังนั้นคนในครอบครัวก็ควรมีความรับผิดชอบในการอบรมบ่มสอนลูกหลานให้เข้าใจในความรับผิดชอบของแต่ละคนเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและในหมู่บ้านเพื่อร่วมกันพัฒนา .

Feedback

พิเชษฐ์ ทองพุ่ม
ชอบบทความนี่มาก อยากให้นำเรื่องอื่นๆ มานำเสนอด้วยครับ