ท่ารำกลองของชุมชนเผ่าไย้ในจังหวัดฮายาง

Thu Hằng -VOV5
Chia sẻ

(VOVWORLD) - ในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อำเภอแหม่วหวาก จังหวัดฮายาง ชุมชนเผ่าไย้ได้รวมตัวกันอาศัยในตำบลตา-งาด ชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมพัฒนาค่อนข้างมากจึงทำให้ชีวิตมีความอิ่มหนำผาสุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้ชีวิตทางจิตใจก็มีการพัฒนาหลากหลายมากขึ้น โดยที่โดดเด่นน่าสนใจคือท่ารำกลองที่เรียกว่า รำโหล่งตรง ที่สะท้อนวิถีชีวิตที่เต็มด้วยเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นบ้านของประชาชนในท้องถิ่น

ท่ารำกลองของชุมชนเผ่าไย้ในจังหวัดฮายาง - ảnh 1 การแสดงรำกลองของชุมชนเผ่าไย้

ตามเรื่องที่ผู้เฒ่าในหมู่บ้านได้เล่าให้ฟัง หมู่บ้านตา-งาดเป็นถิ่นที่มีครอบครัวชนเผ่าไย้อาศัยมากที่สุดดังนั้นชาวบ้านได้สร้างศาลเจ้าสองแห่งเรียกว่า ศาลเจ้าโองและศาลเจ้าบ่า ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้ชาวบ้านมาสักการะขอพรเท่านั้นหากยังเป็นที่เก็บกลองยักษ์สองใบเพื่อใช้ในงานเทศกาลใหญ่ของหมู่บ้านอีกด้วย โดยกลองสองใบนี้จะถูกนำมาใช้ในวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีด้วยความเลื่อมใสที่ชาวบ้านได้สืบต่อกันมาว่า เจ้าโองและเจ้าบ่าคือบรรพชนของเผ่าไย้และก็เป็นเทพเจ้าที่คอยปกป้องดูแลลูกหลาน นายวีเย้ามิน ชาวบ้านตา-งาดเผยว่า  ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ศาลเจ้าโองและศาลเจ้าบ่าได้ตั้งอยู่ในชุมชนนี้มาแต่โบราณกาล ซึ่งท่านเป็นเทพเจ้าสององค์ที่มีหน้าที่ดูแลด้านต่างๆของชีวิต โดยเทพศาลเจ้าโองดูแลเรื่องสุขภาพและความผาสุก ส่วนเทพแห่งศาลเจ้าบ่าคอยปกป้องเรื่องดินฟ้าอากาศและการผลิตเกษตร"

ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆที่จัดขึ้น ณ ศาลเจ้าทั้งสองแห่งนี้ การรำกลองหรือเรียกตามภาษาชนเผ่าคือ รำโหล่งตรง เป็นสิ่งที่ขาดมิได้เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่าเสียงกลองที่ฮึกเหิม ครึกครื้นและเร้าใจจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายของปีเก่าให้ออกไปให้หมดเพื่อต้อนรับปีใหม่ชีวิตใหม่ที่มีความสงบสุข จุดเด่นที่มีความพิเศษของการรำกลองโหล่งตรงคือการผสานท่ารำของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยหนุ่มสาวเผ่าไย้ในชุดชนเผ่าที่สวยงามได้แสดงท่ารำที่อ่อนช้อยตามจังหวะของกลองแล้วเดินล้อมกลองทั้งสองใบ แม้ท่ารำจะดูเรียบง่าย หนุ่มๆเคาะที่หน้ากลองส่วนสาวๆเคาะที่ขอบบนของกลองแล้วเดินเป็นวงกลมตามจังหวะพร้อมงอบเป็นอุปกรณ์ประกอบการรำแต่สามารถสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตการทำงาน ความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามและความสงบสุขที่กำลังมาพร้อมกับปีใหม่ "วันขึ้นปีใหม่เป็นวันแรกของปีจึงต้องจัดงานอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะต้องมีการแสดงรำกลอง โดยท่ารำแรกเป็นการส่งท้ายปีเก่าเพื่อรายงานผลการทำงานต่อเทพโองเทพบ่า ส่วนท่าที่สองเป็นการขอพรให้เทวดาฟ้าดินประทานพรให้การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ท่าที่สามคือการขออนุญาตแห่ขบวนกลองรอบหมู่บ้านเพื่อเป็นการฉลองปีใหม่"  

ท่ารำกลองของชุมชนเผ่าไย้ในจังหวัดฮายาง - ảnh 2กลองจะตั้งอยู่ตรงกลางและมีคู่หนุ่มสาวเป็นผู้รับผิดชอบตีกลองนำจังหวะ

ในการแสดงรำกลองนั้น กลองจะตั้งอยู่ตรงกลางและมีคู่หนุ่มสาวเป็นผู้รับผิดชอบตีกลองนำจังหวะ โดยกลองมีลักษณะทรงกระบอกสูงกว่า1เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ60เซ็นติเมตร ทำจากท่อนไม้ทั้งต้น เจาะทะลุสองด้านและปิดหนังสัตว์1ด้าน โดยเผ่าไย้เชื่อว่าเเม้เทพเจ้าจะอยู่เบื้องบนแต่เสียงกลองที่ดังกังวาลนั้นสามารถนำความปรารถนาของชุมชนไปถึงสวรรค์ให้เทพเจ้าแห่งสวรรค์ที่มีหน้าที่ให้ทรงรับทราบและประทานพร พิธีกรรมสุดท้ายในงานคือการจัดขบวนแห่งกลองเพื่อขอพรนำโชค โดยกลองถ้าแห่ผ่านบ้านไหนครอบครัวนั้นก็ถือว่าได้รับโชคในปีใหม่ ซึ่งทางเจ้าของบ้านจะนำขนม อาหารและเป็ดไก่มาเป็นของตอบแทนโดยขบวนแห่จะต้องพยายามไปให้ทั่วทุกบ้านภายในวันเดียวเพราะเมื่อถึงวันรุ่งขึ้นกลองจะถูกเก็บไว้ที่ศาลเจ้าเพื่อไว้ใช้ในวันขึ้นปีใหม่ปีต่อไป แม้เวลาได้ผ่านไปหลายชั่วคนและสังคมได้มีการพัฒนาไปมากแต่การแสดงรำกลองของเผ่าไย้ยังคงได้รับการสานต่อและรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นอื่นๆรวมทั้งนักท่องเที่ยวมีโอกาสสัมผัสถึงวิถีชีวิตทางจิตใจของชุมชนเผ่าไย้ได้อย่างลึกซึ้ง./.

Feedback