(VOVWorld)-ในจังหวัดห่ายางทางภาคเหนือเวียดนามมีชนเผ่าน้อยอาศัยอยู่ 22 ชนเผ่าแต่ละชนเผ่าจะมีวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่างกันในนั้นมีชนเผ่าน้อยปูแป๊วที่มีประเพณีการแต่งงานเป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตน
ชุดแต่งกายของคู่บ่าวสาวชนเผ่าปูแป๊ว
|
ตั้งแต่นานมาแล้วในเรื่องการแต่งงานชนเผ่าปูแป๊วไม่มีการคลุมถุงชนโดยจะให้ความสำคัญต่อการเลือกคู่ครองของหนุ่มสาวที่มีใจรักกัน เมื่อคู่หนุ่มสาวตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกันแล้วครอบครัวของทั้งสองฝ่ายก็เริ่มเตรียมงานแต่งให้ลูกๆตามสี่ขั้นตอนของประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม
ขั้นตอนแรกคือการพูดคุย โดยฝ่ายชายจะส่งพ่อสื่อหรือแม่สื่อนำถาดของที่มีข้าวเหนียว เหล้าหนึ่งขวดและเงินสักเล็กน้อยห่อกระดาษสีแดงไปคุยกับบ้านฝ่ายหญิงเรื่องของคู่หนุ่มสาวและขอความเห็นจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง นาย ลิวเสิ่นหว่าน สมาชิกในกลุ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆในจังหวัดห่ายางให้ทราบว่า “ เมื่อไปถึงบ้านฝ่ายหญิงพ่อสื่อหรือแม่สื่อจะวางถาดของลงแล้วเล่าเรื่องของคู่หนุ่มสาวที่รู้จักกัน เกิดรักกันและอยากใช้ชีวิตร่วมกัน ฉะนั้นถ้าฝ่ายชายไม่ขัดข้องก็ขอให้รับถาดของนี้และเปิดเหล้าดื่ม แต่ถ้าหากไม่ยินยอมก็คืนถาดของนั้นไป”
เมื่อครอบครัวฝ่ายหญิงตกลงเห็นชอบแล้ว พ่อสื่อหรือแม่สื่อก็จะกลับไปบอกให้ครอบครัวฝ่ายชายทราบและฝ่ายชายจะเริ่มเตรียมขันหมากไปขอหมั้นฝ่ายหญิงให้ลูกชายซึ่งในขันหมากนั้นจะมีเหล้าสองขวด ข้าวเหนียว ไก่หนึ่งตัว ผ้าสีแดงสองเมตรและกำไลมือหนึ่งอันหรือแหวนหนึ่งวงแล้วแต่ฐานะของฝ่ายชาย เมื่อเตรียมของเสร็จครอบครัวฝ่ายชายกับพ่อสื่อหรือแม่สื่อจะนำขบวนไปขอหมั้นหลังจากพิธีหมั้นเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนที่สามคือพิธีขอฤกษ์แต่งงานซึ่งชนเผ่าปูแป๊วให้ความสำคัญที่สุดในประเพณี เพราะหลังจากพิธีนี้คู่หนุ่มสาวจะได้รับการรับรองเป็นสามีภรรยากันอย่างแท้จริงและเป็นสมาชิกของทั้งสองครอบครัว นายลิวเสิ่นหว่านเล่าว่า “วันไปขอฤกษ์พ่อสื่อหรือแม่สื่อของฝ่ายชายจะเอาข้าวเหนียวสามห่อใส่ในตะกร้าแล้วเอากระดูกซี่โครงหนึ่งชิ้นวางไว้ข้างบน เหล้าสองขวด ไก่สองตัว ถ้วยสองใบกับ สร้อยลูกปัดและผ้าสีแดงที่มีความยาวเท่าโต๊ะของบ้านฝ่ายหญิง เมื่อสองฝ่ายเลือกฤกษ์ได้แล้ว ฝ่ายชายกลับไปเตรียมงานแต่งซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย”
ในวันแต่งงานของชนเผ่าปูแป๊วทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวและสมาชิกทุกคนของทั้งสองครอบครัวต้องแต่งชุดประจำชนเผ่า |
ในวันแต่งงานของชนเผ่าปูแป๊วทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวและสมาชิกทุกคนของทั้งสองครอบครัวต้องแต่งชุดประจำชนเผ่า ขบวนแห่ของเจ้าบ่าวที่ไปรับเจ้าสาวต้องมีจำนวนคนเป็นเลขคี่เพื่อเมื่อรับตัวเจ้าสาวไปก็พอดีครบเลขคู่ ของที่นำไปกับขบวนแห่รับตัวเจ้าสาวมีข้าวเหนียวห้าห่อใส่ในตะกร้าห้าใบ แต่ละใบเอากระดูกซี่โครงหนึ่งชิ้นวางไว้ข้างบน เหล้าสี่ขวด ไก่สองตัว ของทุกชิ้นจะต้องห่อด้วยกระดาษสีแดง เมื่อขบวนแห่ของเจ้าบ่าวไปถึง ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญดื่มเหล้าและน้ำชา แล้วเสนอให้สองฝ่ายเลือกตัวแทนร้องเพลงโต้ตอบกัน หลังจากนั้นฝ่ายชายจะมอบของต่างๆและทำพิธีไหว้บรรพชนของครอบครัวฝ่ายหญิงเสร็จแล้วก็เริ่มพิธีแต่งงานที่บ้านเจ้าสาวหนึ่งวัน เช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนเจ้าสาวคนหนึ่งจะให้เจ้าสาวขี่หลังแล้วพาไปส่งที่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อไปถึงเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวไปไหว้บรรพชนของครอบครัวตนเพื่อให้บรรพชนรับเป็นสมาชิกของตระกูล นายลิวเสิ่นหว่านเล่าเสริมว่าเมื่อเจ้าสาวไปอยู่บ้านสามีแล้วเวลากลับไปเยี่ยมบ้านจะไดัรับการต้อนรับเหมือนแขกมาเยือน “ หลังพิธีแต่งงานประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวปูแป๊วถือปฏิบัติกันมาทุกวันนี้คือ ถ้าบ้านเจ้าสาวอยู่ใกล้ สามวันให้หลังเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวกลับบ้านกินข้าว เรียกว่า “มื้อข้าวกลับสู่เหย้า” ถ้าหากบ้านเจ้าสาวอยู่ไกล ก็หนึ่งอาทิตย์ให้หลังสองสามีภรรยาจึงจะพากันกลับไปบ้านเจ้าสาวแล้วค้างที่นั่นหนึ่งคืนโดยมีงานสามอย่างที่ไม่ให้เจ้าสาวทำคือไม่กวาดบ้าน ไม่ล้างถ้วยชามและไม่ขึ้นชั้นบนบ้าน”
ในประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าปูแป๊วจะมีข้อห้ามว่าถ้าผู้ชายตระกูลนี้แต่งงานกับผู้หญิงตระกูลอื่นแล้ว ผู้ชายคนอื่นๆของตระกูลนี้ก็จะไม่สามารถแต่งงานกับผู้หญิงใดๆในตระกูลนั้นได้อีก ผู้หญิงชนเผ่าปูแป๊วเมื่อแต่งงานแล้วต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามีตลอดชีวิต วัฒนธรรมการแต่งงานของชนเผ่าปูแป๊วได้มีส่วนร่วมไม่น้อยในการเพิ่มสีสันอันหลากหลายให้แก่อัตลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชาติเวียดนาม.