ตามความเห็นของชาวไต-หนุ่ง สิงโตแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่สะท้อนลักษณะอันแข็งแกร่งของเสือป่าและความฉลาดน่ารักเหมือนแมว |
หัวสิงโตแมวทำเป็นทรงกลม ขนาดกว้างประมาณ 50 ซม. ทำจากดินเหนียวที่เผาด้วยไฟแล้วตกแต่งอย่างมีสีสันด้วยสีหลักคือเขียว แดง ดำ เหลือง ขาว มีสีหน้าดุดัน มีตาโต จมูกใหญ่ ปากกว้าง หูเล็กเอียงหลัง มีเคราทำด้วยผ้าสีแดงโดยเฉพาะมี 3 เขา คอของสิงโตแมวทำจากผ้า 3-4 ชิ้นเย็บเข้าด้วยกัน และมีการติด "ขนแผงคอ" ด้วยผ้าขนสัตว์สีเขียวเพื่อเพิ่มความโดดเด่นและความอ่อนโยนในการเชิด คุณ นง วัน เหียน หนึ่งในศิลปินเชิดสิงโตแมวอาวุโสในจังหวัดหลางเซิน เล่าว่า เขาหลงใหลการเชิดสิงโตแมวของชนเผ่าตนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งตอนแรกเป็นเพียงการเรียนแบบครูพักลักจำเท่านั้น ต่อมาเขาก็สมัครเข้าทีมเชิดและฝึกซ้อมอย่างขยันจนสามารถจำเชิดได้อย่างคล่องแคล่ง ทีมสิงโตแมวของเขามักได้รับเชิญให้แสดงในวันงานเทศกาลต่างๆในหมู่บ้านและในชุมชน ในปี 1986 คุณ เหียน ได้ก่อตั้งทีมเชิดสิงโตแมวหมู่บ้าน Hop Tan จากเริ่มแรกที่มีเพียง 18 คน ตอนนี้ได้เพิ่มเป็น 60 คนแล้ว“การเต้นนี้ต้องการความแข็งแรง มือต้องอ่อนโยนในทุกท่าเชิด คนที่สามารถเชิดได้นานก็เป็นการออกกำลังกาย ดีต่อสุขภาพ ผู้ที่ไม่แข็งแรงจะไม่สามารถเชิดได้ เพราะการถือและควบคุมหัวสิงโตแมวยากมาก ท่ารำทั้งมือและเท้าต้องประสานกันอย่างคล่องแคล่ว เมื่อไปสอนคนหนุ่มสาวเขาก็สนใจส่วนชาวบ้านก็สนับสนุนอย่างมาก”
การเชิดสิงโตแมวเป็นศิลปะพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากท่ารำที่สนุกสนาน เรียนรู้ง่าย เหมาะกับการเป็นกีฬาของชาวไต คณะเชิดสิงโตแมวประกอบด้วยคน 8 -16 คน โดยแบ่งหน้าที่ให้คนเป็นมือกลอง มือฆ้อง และคนเต้นท่าแสดงศิลปะการป้องกันตัว นักเต้นถือหัวสิงโตและสมาชิกในทีมสวมหน้ากากรูปอุรังอุตังและลิง มือถืออาวุธอย่างพวกมีดสั้น ดาบ เป็นต้น การแสดงสิงโตแมวมักมีขึ้นในเทศกาลปีใหม่ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือเทศกาลโหล่งต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสวันตรุษเต๊ต ทีมเชิดสิงโตแมวจะไปแสดงตามบ้านต่างๆในหมู่บ้านเพื่ออวยพรให้เจ้าของบ้านมีสุขภาพแข็งแรงและโชคดีในปีใหม่ นาย หว่างวันปาว นายกสมาคมมรดกวัฒนธรรม นักวิจัยวัฒนธรรมในถิ่นหลางเซินได้กล่าวว่า“ทีมเชิดสิงโตแมวที่มาแสดงตามบ้านในวันปีใหม่จะรำจากประตูสู่แท่นบูชา โดยเมื่อเห็นสิงโตแมวปรากฎที่ไหนก็จะทำให้บรรยากาศมีความคึกครื้นรื่นเริง ปัดเป่าช่วงเวลาแห่งการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยเพื่อต้อนรับปีใหม่แห่งการพัฒนาใหม่ นับเป็นประเพณีที่ดีงามและเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่แสดงถึงความปรารถนาในการขอให้สุขภาพแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงกิจกรรมด้านความเลื่อมใสอีกด้วย โดยต้องทำพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าด้วยไก่หนึ่งตัวก่อนจะเอาหัวสิงโตแมวลงมาเชิด”
|
การเชิดสิงโตแมวสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต โลกทัศน์ ความคิด ความรู้สึก และความปรารถนาของเผ่าไต-หนุ่ง โดยไม่เพียงแต่จัดเฉพาะในหมู่บ้านบนที่ราบสูงเท่านั้น หากปัจจุบัน การแสดงเชิดสิงโตแมวของชนเผ่ายังถูกนำไปแสดงเพื่อเป็นการเผยแพร่แนะนำในกิจกรรมทางวัฒนธรรมทั้งในและนอกจังหวัดด้วย ส่วนงานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานท้องถิ่นให้ความสนใจ นาง Hoang Thi Phuong Hue หัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอ กาวหลก จังหวัด หลางเซิน กล่าวว่า“ปัจจุบันในท้องถิ่นมีทีมเชิดสิงโตแมว20 ทีม โดยเฉพาะที่ตำบลหายเอี๊ยน ได้มีการจัดตั้งทีมเชิดสิงโตแมวรุ่นเยาว์อายุตั้งแต่15-16 ปี นอกจากนี้ศิลปะการเชิดสิงโตแมวยังถูกระบุเข้าในหลักสูตรการสอนวิชาวัฒนธรรมตามโรงเรียนต่างๆโดยศิลปินจะเป็นครูรับเชิญมาสอนให้นักเรียนในภาควิชาทัศนะศึกษา”
เมื่อวสันต์ฤดูเวียนมา เสียงกลอง เสียงฆ้อง และการแสดงเชิดสิงโตแมวได้นำความสุข ความสนุกสนานมาสู่หมู่บ้านที่ห่างไกลในเขตชายแดน เป็นการแสดงศิลปะของชุมชนเผ่าไต-หนุ่งที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมความเลื่อมใสในชีวิต สร้างเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินหลางเซิน ที่มีส่วนร่วมดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศให้มาเที่ยวท้องถิ่นชายแดนแห่งนี้มากขึ้น.