แผนครอบครองเขตทะเลตะวันออกเพียงผู้เดียวโดยไม่สนใจกฎหมายสากล

Hồ Điệp- Thu Hoa
Chia sẻ
(VOVWORLD) - นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมปี 2019 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มเรือสำรวจไหหยาง ตี้จื้อ 8 ของจีนได้เข้ามาสำรวจแหล่งน้ำมันและขยายการเคลื่อนไหวในบริเวณแนวปะการังตือชิ้ง-หวุงไมที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวละเมิดอำนาจอธิปไตยและอำนาจศาลของเวียดนามตามที่ถูกระบุในข้อกำหนดของอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลหรือ UNCLOS ปี 1982 ที่ทั้งเวียดนามและจีนต่างเป็นสมาชิก
แผนครอบครองเขตทะเลตะวันออกเพียงผู้เดียวโดยไม่สนใจกฎหมายสากล - ảnh 1

ตามข้อกำหนดของ UNCLOS 1982 ประเทศริมฝั่งทะเลมีอำนาจอธิปไตยในการสำรวจ อนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทรัพยากรชีวภาพทั้งในรูปแบบสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆในการสำรวจ ขุดเจาะเพื่อเป้าหมายด้านเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐานชายฝั่ง ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรือไหหยางของจีนได้ละเมิดอำนาจศาลของเวียดนาม สร้างภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือและกิจกรรมใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของเวียดนามและประเทศอื่นๆ

ละเมิดอธิปไตยในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม

บริเวณแท่นตรวจการทางทะเลดีเค 1 รวมทั้งแนวปะการังตือชิ้งอยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐานชายฝั่งของเวียดนามและอยู่ในไหล่ทวีปของเวียดนามอย่างสมบูรณ์ นี่คือเขตทะเลที่ถูกระบุตาม UNCLOS 1982 เขตทะเลนี้ไม่ใช่เขตทะเลที่มีการพิพาทกับประเทศใด รวมทั้งไม่มีการพิพาทกับจีน รองศาสตราจารย์ ดร. เลวันเกือง อดีตหัวหน้าสถาบันวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของกระทรวงรักษาความมั่นคงทั่วไปได้ย้ำว่า “อนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลปี 1982 ระบุว่า ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศต่างๆ เมื่อประเทศอื่นต้องการสำรวจ ขุดเจาะหรือทำประมงต้องขออนุญาตจากประเทศนั้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็จะเป็นการละเมิดกฎหมายสากล ละเมิดอธิปไตย อำนาจอธิปไตยและอำนาจศาลของประเทศเจ้าของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในกรณีนี้ การกระทำของจีนที่ส่งเรือสำรวจไหหยาง 8 มาสำรวจในแนวปะการังตือชิ้งของเวียดนามเป็นการละเมิดอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลปี 1982 อย่างรุนแรง อีกทั้งละเมิดแถลงการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อกันหรือดีโอซีที่จีนได้ลงนามกับประเทศสมาชิกอาเซียน ณ ประเทศกัมพูชา”

จีนได้ทำการแก้ต่าง 2 ข้อเกี่ยวกับการรุกล้ำเขตทะเลของเวียดนาม 1คือจีนกำลังสำรวจสิ่งที่เรียกว่า “เขตทะเลประวัติศาสตร์เส้นประ 9 เส้นที่จีนมีอธิปไตยมานาน” เส้นประ 9 เส้นที่จีนประกาศอธิปไตยแต่เพียงฝ่ายเดียวถูกศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮกปฏิเสธเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมปี 2016 ด้วยเหตุผล “ไม่มีพื้นฐานทางนิตินัยรองรับการเรียกร้องของจีนเกี่ยวกับสิทธิประวัติศาสตร์ต่อทรัพยากรในเขตทะเลเส้นประ 9 เส้น” เส้นประ 9 เส้นนี้ครอบคลุมกลุ่มหมู่เกาะและแนวปะการังใหญ่ 4 แห่งในทะเลตะวันออกคือหมู่เกาะหว่างซาหรือพาราเซล หมู่เกาะเจื่องซาหรือสเปรตลีย์ หมู่เกาะดงซาและแนวปะการัง Macclesfield โดยมีพื้นที่ผิวน้ำคิดเป็นร้อยละ 75 ของทะเลตะวันออก ส่วนผิวน้ำที่เหลือคือร้อยละ 25 เป็นของประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งหมายความว่า แต่ละประเทศเหล่านี้มีพื้นที่ผิวน้ำในทะเลตะวันออกเฉลี่ยร้อยละ 5  แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของนักวิชาการจีน หลี ลิ่ง ฮั่ว ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเลของจีนได้เผยว่า จีนได้เพิกเฉยต่อเจตนารมณ์ขั้นพื้นฐานของ UNCLOS ด้วยการเสนอแนวทางเกี่ยวกับ “เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งขัดกับ UNCLOS 1982 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

เพิกเฉยกฎหมายสากล

การที่จีนเสนอเส้นประ 9 เส้นแต่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งครอบคลุมเขตทะเลของเวียดนามร้อยละ 60 และพยายามทำให้เขตทะเลที่ไม่มีการพิพาทของเวียดนามให้กลายเป็นเขตที่มีการพิพาทคือสิ่งที่ละเมิดกฎหมายและไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมายสากล คำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการในเรื่องที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องจีนซึ่งเป็นเอกสารทางนิตินัยที่อธิบาย UNCLOS 1982 ซึ่งได้ปฏิเสธคำเรียกร้องเส้นประ 9 เส้นของจีน ถึงแม้จีนไม่เข้าร่วมการพิจารณาของศาลและประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัย แต่เอกสารทางนิตินัยฉบับนี้ยังคงทรงมีคุณค่า คำวินิจฉัยระบุว่า เส้นประ 9 เส้นไม่มีพื้นฐานทางนิตินัย ซึ่งหมายความว่า เส้นประ 9 เส้นนี้ไม่มีคุณค่าเพื่อให้จีนเรียกร้องสิทธิการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น จีนไม่มีเขตทะเลที่ชอบด้วยกฎหมายใดๆที่มีการพิพาทกับเวียดนามในบริเวณแท่นตรวจการทางทะเลดีเค 1 รวมทั้งแนวปะการังตือชิ้ง

สำหรับแผนการของจีน ศาสตราจารย์ Alexander Vuving จากศูนย์วิจัยความมั่นคงเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐประเมินว่า “จีนเสนอทัศนะเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ จีนมีคำเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับอธิปไตยในทะเลตะวันออกซึ่งละเมิดกฎหมายสากล จีนใช้ความแข็งแกร่งแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเพิกเฉยกฎหมายสากล ปรับเปลี่ยนกฎหมายตามความต้องการของตน พวกเขาอยากสร้างแรงกดดันต่อเวียดนามและประเทศอาเซียนเพื่อให้ประเทศเหล่านี้ต้องอนุมัติหลักปฏิบัติต่อกันในทะเลตะวันออกหรือซีโอซีตามทัศนะของจีน”

การเคลื่อนไหวที่ยืดเยื้อของกลุ่มเรือไหหยางของจีนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของเวียดนามในหลายวันที่ผ่านมามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการพิพาทในเขตทะเลที่ชอบด้วยกฎหมายของเวียดนาม สร้างภัยคุกคามต่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพในเขตทะเลของเวียดนาม นี่คือการเคลื่อนไหวใหม่ที่อันตรายเพื่อกดดันให้เวียดนามต้องยอมรับแผนการร่วมกันใช้ประโยชน์ทางทะเล แต่แนวทางร่วมกันใช้ประโยชน์ทางทะเลที่จีนเสนอนั้นคือกับดักเกี่ยวกับอธิปไตย ทำให้เขตทะเลที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศอื่นกลายเป็นเขตทะเลที่มีการพิพาท เพื่อมุ่งสู่การยึดครองทั้งหมด ก้าวเดินนี้อยู่ในยุทธศาสตร์ครอบครองทะเลตะวันออกเพียงผู้เดียวเพื่อควบคุมทรัพยากรใน “เส้นประ 9 เส้น ”ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของพื้นที่ทะเลตะวันออก ทางผู้จัดทำรายการจะวิเคราะห์ก้าวเดินที่อันตรายและยุทธศาสตร์ครอบครองทะเลตะวันออกเพียงผู้เดียวของจีนในรายการครั้งต่อๆไป ขอเชิญท่านโปรดติดตามรับฟังค่ะ.

Feedback