เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

Quang Dung
Chia sẻ
(VOVWORLD) - รายงานสถิติที่เผยแพร่โดยองค์การเศรษฐกิจและการเงินสำคัญๆของโลกเมื่อเร็วๆ นี้ได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากแรงกระตุ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น สหรัฐและจีน บวกกับการเติบโตที่เด่นชัดจากยุโรป
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ - ảnh 1ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ณ ท่าเรือปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี (YONHAP)

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 ได้ออกแถลงการณ์โดยยืนยันว่า เศรษฐกิจโลกกำลังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นฟูที่สูงกว่าการคาดการณ์ไว้ในสภาวการณ์ที่ยังมีความความท้าทายมากมาย

การฟื้นตัวที่น่าประทับใจ

การประเมินของกลุ่ม G7 สอดคล้องกับการประเมินในแง่ดีขององค์การเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศหลายแห่งเกี่ยวกับอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในเวลาที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้น ในรายงานเกี่ยวกับศักยภาพเศรษฐกิจที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ สหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ต่างปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในตลอดทั้งปี โดยในรายงานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติหรือ DESA ได้แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจใหญ่ๆและเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดใหม่เติบโตดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จึงสร้างพลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย อีกทั้ง ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็นร้อยละ 2.7 ซึ่งสูงกว่าอีกร้อยละ0.3ของการคาดการณ์ของ DESA เมื่อเดือนมกราคม

สำหรับสหรัฐซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก DESA คาดการณ์ว่า สหรัฐสามารถเติบโตได้ร้อยละ 2.3 ในปีนี้ โดยเฉพาะ จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกมีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะเติบโตร้อยละ 4.8 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ร้อยละ 0.1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ปรับขึ้นการคาดการณ์การเติบโตของจีนในปีนี้เป็นร้อยละ 5 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนร้อยละ 0.4 พื้นฐานของการปรับเพิ่มการคาดการณ์ของ IMF คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของจีนในไตรมาสแรกของปีนี้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.3 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสแรกดีกว่าที่คาดไว้ และการมีมาตรการนโยบายเพิ่มเติมจากรัฐบาลจีน ก่อนหน้านั้น นักวิเคราะห์จากธนาคารใหญ่ๆ เช่น BNP Paribas, Goldman Sachs และ Citi Bank ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกด้วย เช่นเดียวกับสหรัฐและจีน ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดใหม่และกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น อินเดีย บราซิล รัสเซียและอินโดนีเซียก็ได้รับการประเมินในเชิงบวกเช่นกัน นาง คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้แสดงความเห็นว่า

“เศรษฐกิจโลกได้แสดงให้เห็นความมีเสถียรภาพอย่างเด่นชัดถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 การปะทะในยูเครนและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เรากำลังเห็นว่า ผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้ว”

ตามรายงานของ IMF การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เศรษฐกิจรายใหญ่ของยุโรปต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายในเวลาที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็เริ่มมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัว โดยในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโตร้อยละ 1-1.5 ในช่วงปี 2025-2026 ซึ่งสูงกว่าระยะปัจจุบัน นี่คือการประเมินในเชิงบวกที่พบไม่บ่อยนักต่อเศรษฐกิจเยอรมนี เนื่องจากเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปมีการเติบโตติดลบเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่า จะเติบโตเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 0.2 ในปีนี้

เช่นเดียวกับเยอรมนี เศรษฐกิจของอังกฤษก็เริ่มดีขึ้น ตามรายงานสถิติที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษหรือ ONS ประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมแสดงให้เห็นว่า การขยายตัว GDP ของอังกฤษได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ หลังจากที่ลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว นี่คืออัตราการเติบโตที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจอังกฤษนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2021

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ - ảnh 2นาง คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF (AFP)

สมมติฐานเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ย

ถึงแม้จะมีความเห็นในเชิงบวกเกี่ยวกับศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่องค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจำนวนมากยังคงออกคำเตือนอย่างระมัดระวัง ตามความเห็นของนาง คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการ IMF ปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพลังงาน แรงกดดันด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยียังสามารถสร้างภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ นอกจากนี้ นาง คริสตาลินา จอร์จีวา ยังเสนอให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัตินโยบายการเงินในเชิงรุกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย

 “เราได้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอดเบี้ยเล็กน้อย แต่จนถึงขณะนี้สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น ธนาคารกลางต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยต้องเฝ้าดูว่าเมื่อไหร่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยและจะลดเท่าไหร่ และไม่ควรทำตามธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เพราะปัจจุบัน ประเทศต่างๆ กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน”

ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ คำถามใหญ่ในขณะนี้คือ เมื่อใดที่เศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น สหรัฐ เขตยูโรโซนและอังกฤษจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย คาดว่า ธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในวันที่ 6 มิถุนายน นาย ฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ECB เผยว่า การธำรงอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานานเกินไปอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายที่ ECB ได้วางไว้ที่ร้อยละ 2 ซึ่ง ECB อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็วกว่าแผนการที่วางไว้ ดังนั้น นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ ECB เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในรอบกว่า 2 ปี ด้วยความระมัดระวัง ECB คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED จะธำรงอัตราดอกเบี้ยสูงนานขึ้น และบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า  FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวภายในสิ้นปีนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความวิตกกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยสูงในเศรษฐกิจใหญ่ ๆ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อการเติบโต แต่ นาย Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ยังคงแสดงความเห็นว่า ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปีนี้จะถูกควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำและสมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในปีนี้ตามการพยากรณ์ของ IMF มีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นความจริง.

Feedback