นายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงชิ้ง พบปะกับนักลงทุนต่างชาติ |
ในการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนักลงทุนต่างชาติที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน ณ กรุงฮานอย กลุ่มบริษัทต่างชาติ 3 แห่งได้ประกาศแผนการลงทุนใหม่และขยายการลงทุนในเวียดนามในปีนี้ รวมยอดเงินทุน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยโครงการลงทุนคือ โครงการผลิตอุตสาหกรรมหนักและโลจิสติกส์ของนักลงทุนสาธารณรัฐเกาหลี รวมยอดเงินทุนประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้พลังงานหมุนเวียนของนักลงทุนเยอรมนี รวมยอดเงินทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและโครงการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของนักลงทุนญี่ปุ่น รวมยอดเงินทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานประกอบการต่างประเทศหลายแห่งได้ให้คำมั่นที่จะลงทุนในเวียดนามในสภาวการณ์ที่เวียดนามได้รับการประเมินโดยสื่อต่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศว่า เป็น “หนึ่งในประเทศชั้นนำในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2023” “จุดหมายปลายทางเพื่อการลงทุนที่ปลอดภัยและน่าสนใจ” และ“จุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพของนักลงทุน”
ความน่าสนใจของเวียดนามต่อนักลงทุนต่างชาติ
ตามรายงานสถิติของสมาพันธ์สถานประกอบการสาธารณรัฐเกาหลีในเวียดนามหรือ Kocham ปัจจุบัน มีสถานประกอบการสาธารณรัฐเกาหลีประมาณ 9,000 แห่งที่ลงทุนในเวียดนาม โดยมูลค่าการค้าต่างตอบแทนเมื่อปีที่แล้วอยู่ในระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ คือ 8 หมื่น 7 พัน 7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ นาย ฮงซัน ประธาน Kocham เผยว่า ในเวลาที่จะถึง จะมีสถานประกอบการขนาดใหญ่ของสาธารณรัฐเกาหลีหลายแห่งเข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยบริษัท LG Electronics, LG Display และ LG Innotek กำลังขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาโรงงานในเวียดนามให้กลายเป็นฐานการผลิตระดับโลกเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ในครัวเรือน ในขณะเดียวกัน นาย ทาเคโอะ นากาจิมา หัวหน้าสำนักงานตัวแทนขององค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่นหรือ JETRO ในกรุงฮานอย เผยว่า สถานประกอบการญี่ปุ่นพร้อมที่จะลงทุนในเวียดนาม สถานประกอบการญี่ปุ่นถึงร้อยละ 47 เผยว่า จะขยายการประกอบธุรกิจในอีก 1-2 ปีข้างหน้าเนื่องจากเห็นว่า มีโอกาสการลงทุนมากมายในเวียดนาม
ส่วนตามความเห็นของตัวแทนสมาพันธ์สถานประกอบการยุโรปในเวียดนามหรือ EuroCham ถึงแม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่เวียดนามถือเป็น “ดาวรุ่ง” ในด้านธุรกิจเนื่องจากสถานประกอบการยุโรปกว่า 400 จาก 1,300 แห่งระบุเวียดนามอยู่ในกลุ่ม 5 จุดหมายปลายทางอันดับแรกเพื่อลงทุนและประกอบธุรกิจ นาย เหงียนหายมิง รองประธาน EuroCham กล่าวว่า
“ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับดัชนีบรรยากาศการประกอบธุรกิจของ EuroCham เมื่อเร็วๆนี้ปรากฎว่า เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการลงทุนของสถานประกอบการยุโรปเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมาโดยตลอด เนื่องจากเวียดนามมีศักยภาพต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และการเปิดกว้างของข้อตกลงการค้าเสรีไปจนถึงการมีส่วนร่วมอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทาน แหล่งบุคลากร โดยเฉพาะ ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ที่น่าสนใจคือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะผู้แทนของสถานประกอบการชั้นนำของสหรัฐ 52 แห่ง รวมถึงบริษัทชื่อดัง เช่น Boeing, SpaceX, Netflix, Pfizer, Abbott, Meta, Amazon และ Apple ได้เดินทางมาเวียดนามเพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจ ตามการประเมินของสถานประกอบการสหรัฐ เวียดนามมีศักยภาพในการลงทุนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ สินค้าอุปโภคบริโภคที่เคลื่อนไหวเร็วหรือ FMCG ของเล่น เครื่องเฟอร์นิเจอร์ อาหาร เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจนวัตกรรม การบริการทางการเงิน ธนาคารและการดูแลสุขภาพ นาย ราฟาเอล แฟรงเคิล ผู้อำนวยการบริษัท Meta ย่านเอเชีย-แปซิฟิกได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้สถานประกอบการสหรัฐให้ความสนใจลงทุนในเวียดนาม
“1 คือความสามารถ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความขยันหมั่นเพียร ความมุ่งมั่นและจิตใจของนักธุรกิจเวียดนาม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ชาวเวียดนามไม่แพ้ประเทศใดในโลก 2 คือ เวียดนามเป็นประเทศที่เราเชื่อมั่นเพื่อมาลงทุนเนื่องจากจะมีอนาคตที่สดใสเมื่อลงทุนที่นี่ เราได้เล็งเห็นถึงผลงานของการลงทุนในหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ 3 คือปัจจุบัน รัฐบาลเวียดนามได้ยึดมั่นดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด”
ศักยภาพที่สดใสของเศรษฐกิจเวียดนาม
นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามเนื่องจากความสามารถในการรับมือจากผลกระทบของโควิด-19 และความเสี่ยงจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ฟันฝ่าความยากลำบากและความท้าทาย เวียดนามยังคงสามารถธำรงเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ควบคุมภาวะเงินเฟ้อและปรับตัวเข้ากับการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว
เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศได้ยกระดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศในสภาวการณ์ที่โลกประสบความยากลำบาก เช่น Moody's และ S&P ได้เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามขึ้นเป็นระดับ “เสถียรภาพ” ส่วน Fitch ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามเป็น “บวก” เวียดนามยังเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมในการสร้างสรรค์ พัฒนาและมีเครื่องหมายการค้าระดับประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลกในช่วงปี 2019-2022
ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเผยว่า เศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลางและระยะยาวยังคงได้รับการประเมินในเชิงบวก และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคและโลกในปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือIMF ธนาคารโลกหรือ WB ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 หรือ AMRO และธนาคาร Standard Chartered ได้คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะอยู่ที่ร้อยละ 5.8 - 6.6 นาย เหงียนมิงเกื่อง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB ประจำเวียดนามแสดงความเห็นว่า
“ธนาคาร ADB ประเมินว่า การเติบโตในระยะยาวของเวียดนามเป็นไปในเชิงบวก เราคิดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เวียดนามจะบรรลุการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2030 เวียดนามมีข้อได้เปรียบเพื่อบรรลุการเติบโตนี้ 1 คือ เวียดนามเป็นเศรษฐกิจที่มีความคล่องตัวโดยมีประชากร 100 ล้านคน สามารถกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน ชนชั้นกลางในเวียดนามมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ เวียดนามยังมีข้อได้เปรียบในการเข้าถึงตลาดผ่านข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA และเวียดนามมีชายแดนติดกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก”
ด้วยสัญญาณที่น่ายินดีจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ บวกกับการประเมินในเชิงบวกของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติจะมีพื้นฐานเพื่อมั่นใจมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุนในเวียดนาม และหลายคนคาดการณ์ว่า การดึงดูดเงินทุน FDI เข้าเวียดนามจะเพิ่มขึ้นในปีนี้.