นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิร์ล (vietnamplus) |
เพื่อเตรียมพร้อมให้แก่วาระดำรงตำแหน่งประธานอียู เยอรมนีมีเวลาพอสมควรเพื่อเตรียมเนื้อหาที่ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆอย่างรอบคอบ เช่นการควบคุมการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ความสัมพันธ์กับอังกฤษ “หลัง Brexit” และร่างงบประมาณของอียู เป็นต้น แต่ปัญหาโควิด-19 ได้ทำให้เนื้อหาเตรียมไว้นั้น มิใช่เรื่องที่ต้องให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆต่อไป เพราะหน้าที่ที่สำคัญขณะนี้คือการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเสริมสร้างให้สหภาพยุโรปมีความแข็งแกร่งเพื่อสามารถรับมือวิกฤตในอนาคต
อุปสรรคที่ต้องเผชิญ
ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่อียูต้องเผชิญในปัจจุบันคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในวงกว้าง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 140,000 ราย ประชาชนนับร้อยล้านคนต้องอยู่ในภาวะถูกจำกัดการเดินทางส่งผลให้ยุโรปต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้หลายประเทศในเขตยูโรโซนตกเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 1 ศตวรรษ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปหรืออีซีได้ประกาศรายงานที่เตือนว่า เศรษฐกิจยุโรปจะลดลงร้อยละ 7.4 ในปีนี้ และเศรษฐกิจของทุกประเทศสมาชิกของอียูถูกคาดการณ์ว่า จะถดถอยอย่างรุนแรง โดยเศรษฐกิจในกรีซ อิตาลี สเปน โครเอเชียและฝรั่งเศสได้รับผลกระทบหนักที่สุด เช่นการถดถอยด้านเศรษฐกิจของฝรั่งเศสได้ถูกพยากรณ์ว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 8.2 ในปีนี้ ส่วนจีดีพีของเยอรมนี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจชั้นนำของเขตยูโรโซนและพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจะลดลงร้อยละ 6.5 ในปี 2020 ส่วนอัตราคนว่างงานในยุโรปก็ถูกคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.5 เมื่อปี 2019 เป็นร้อยละ 9 ในปี 2020
อุปสรรคอย่างที่ 2 คือความแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิกอียูที่นับวันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในการป้องกัน รับมือและแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ประธานอีซีได้ประกาศข้อเสนอวงเงินช่วยเหลือ มูลค่า 75 พันล้านยูโรเพื่อนำยุโรปฟันฝ่าวิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมี 4 ประเทศสมาชิกอียูคัดค้านแผนการดังกล่าวคือออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สวีเดนและเดนมาร์ก เพราะอยากให้อียูจัดสรรวงเงินกู้แทนการอุปถัมภ์
มาตรการควบคุมเขตชายแดนที่เข้มงวดที่ประเทศต่างๆต้องประกาศใช้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ตลาดภายในกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อแนวคิดยุโรปที่ไร้พรมแดน วิกฤตในปัจจุบันได้ทำให้ประเทศสมาชิกยุโรปตกเข้าสู่ภาวะลำบากที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ยุโรปต้องการมาตรการแก้ไขอย่างเด็ดขาดของเยอรมนีในฐานะประธานหมุนเวียนยุโรป
ในด้านการต่างประเทศ อุปสรรคก็เริ่มปรากฎให้เห็นก่อนที่เยอรมนีรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนอียูแล้วโดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เยอรมนีต้องประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดอียู-จีน ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในเดือนกันยายน ณ เมือง ไลพ์ซิช ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้ตั้งความหวังต่อการประชุมนี้โดยถือว่า นี่คือโอกาสเพื่อผลักดันจีนให้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้เกี่ยวกับการตอบแทนซึ่งกันและกันในความสัมพันธ์ด้านการค้ากับอียู
ส่วนความสัมพันธ์กับรัสเซียก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องปัญหาที่อียูต้องให้ความสนใจและแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องความท้าทายด้านความมั่นคงจากรัสเซียและความร่วมมือด้านพลังงาน
ความท้าทายต่างๆทำให้วาระดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอียูของเยอรมนีเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก (EU)
|
ประเด็นที่เยอรมนีให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ
ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีตระหนักได้ดีเกี่ยวกับความลำบากที่ต้องเผชิญเมื่อดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนยุโรป โดยในบทปราศรัยเมื่อปลายเดือนเมษายนปี 2020 นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิร์ลได้ย้ำว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดคือประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงที่เยอรมนีดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอียู นาง อังเกลา แมร์เคิล ย้ำว่า ชีวิตของประชาชนในยุโรปยังคงได้รับผลกระทบถ้าหากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาสภาพภูมิอากาศก็ “จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษเหมือนปัญหาด้านสาธารณสุขในระเบียบวาระการประชุมของอียู”
โดยประเทศเยอรมนีจะผลักดันแนวคิดเกี่ยวกับระบบดูแลสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพของยุโรปสำหรับทุกประเทศสมาชิก ตลอดจนปัญหาภาษีการทำธุรกรรมการเงิน ภาษีขั้นต่ำ เป็นต้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่เยอรมนีดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอียู แต่แน่นอนว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอียูนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1993 และเยอรมนีจะต้องฟันฝ่าความท้าทายต่างๆเพื่อ “ร่วมกันทำให้ยุโรปแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง”./.