นาง เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (Photo: AFP) |
ในท่าทีเพื่อแสดงความสามัคคีก่อนการเจรจาเกี่ยวกับกระบวนการ Brexit ในการประชุมผู้นำอียูนัดพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำอียูครั้งแรกหลังจากที่นาง เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษปฏิบัติมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ผู้นำของ 27 ประเทศสมาชิกอียูได้อนุมัติกรอบหลักการที่ถือเป็นหลักปฏิบัติของบรรดานักเจรจาในอีก 2 ปีข้างหน้า
ผู้นำของ 27 ประเทศสมาชิกอียูเห็นพ้องเกี่ยวกับหลักการเจรจา
บรรดาผู้นำอียูได้แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นเกี่ยวกับแผนการเจรจากับอังกฤษผ่านการอนุมัติหลักการสำหรับกระบวนการเจรจาถึงแม้การเจรจาเกี่ยวกับปัญหา Brexit จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดของอังกฤษในวันที่ 8 มิถุนายน โดยการเจรจาข้อตกลงการค้ากับอังกฤษจะมีขึ้นก็ต่อเมื่ออังกฤษเห็นด้วยกับข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการ Brexit เนื่องจากปัญหาที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆของอียูคือการค้ำประกันสิทธิและผลประโยชน์ของพลเมืองอียู 3 ล้านคนที่กำลังอาศัยในประเทศอังกฤษ และพลเมืองอังกฤษ 1ล้านคนในประเทศอียู คณะกรรมการยุโรปได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับสิทธิต่างๆเพื่อปกป้องพลเมืองยุโรป พร้อมทั้งเรียกร้องให้อังกฤษอนุญาตให้พลเมืองยุโรปที่อาศัยในอังกฤษอย่างน้อย 5ปีสามารถพำนักอาศัยในอังกฤษได้ถาวร ซึ่งเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลของนาง เทเรซา เมย์ ที่มีแนวทางเพิ่มความเข้มงวดให้แก่นโยบายตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ ยุโรปได้เรียกร้องให้อังกฤษชำระค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการ Brexit รวมทั้งคำมั่นเกี่ยวกับการจัดสรรค์งบประมาณสำหรับกิจกรรมต่างๆของอียูนับจนถึงวันที่ประเทศนี้ออกจากอียูอย่างเป็นทางการ ซึ่ง รวมมูลค่า 5 – 6 หมื่นล้านยูโร แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักการเมืองอังกฤษได้ให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลอังกฤษจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แผนการเจรจาของอียูยังระบุว่า อุตสาหกรรมการเงินของอังกฤษจะไม่มีข้อผูกมัดกับข้อตกลงการค้าใดๆกับอียูในอนาคต ดังนั้นอังกฤษจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการค้าต่างๆของอียูถ้าอยากเข้าถึงตลาดนี้ โดยนาย โดนัล ทุสค์ ประธานสภายุโรป ได้ยืนยันว่า นี่คือกลยุทธและมาตรการเดียวเพื่อให้อียูสามารถเสร็จสิ้นการเจรจากับอังกฤษ ในขณะที่นาย ฌอง-โคลด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมการยุโรปได้ยืนยันอีกครั้งถึงทัศนะของอียูคือ จะไม่เจรจาข้อตกลงการค้ากับอังกฤษในระยะแรกของกระบวนการเจรจาปัญหา Brexit ซึ่งทัศนะดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนาง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ก่อนหน้านั้น หลังจากที่อังกฤษประกาศ จะปฏิบัติแผนการถอนตัวจากเขตยูโรโซนและสหภาพศุลกากรพร้อมกัน อียูก็ได้แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นเกี่ยวกับแผนการเจรจากับอังกฤษ โดยนาง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้เตือนว่า อังกฤษไม่ควรมีความมั่นใจเกินไปและทั้ง 2 ฝ่ายจะเสียเวลากับการเจรจาการค้าเพราะอังกฤษจะไม่มีสิทธิ์ต่อรองมากนัก ส่วนนาย โวล์ฟกัง ชอยบ์เลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนีได้ยํ้าว่า อียูไม่อยากให้ทั้งอังกฤษและอียูอ่อนแอลงหลังกระบวนการ Brexit
ยากที่จะบรรลุความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ระหว่างอังกฤษกับอียู
ต่อท่าทีต่างๆของฝ่ายอียู เมื่อวันที่ 30 เมษายน นาง เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศว่า ยังคงจุดยืนเกี่ยวกับการเจรจากระบวนการ Brexit ที่ว่า การไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆจะดีกว่าการบรรลุข้อตกลงที่ขาดประสิทธิภาพและส่งผลกระทบในทางลบต่ออังกฤษ ก่อนหน้านั้น นาง เทเรซา เมย์ได้ตำหนิ 27 ประเทศสมาชิกอียูที่มีท่าทีต่างๆที่ต่อต้านพลเมืองอังกฤษ โดยในการหาเสียงเลือกตั้ง ณ เมืองลีดส์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน นาง เทเรซา เมย์ได้กล่าวหาแผนการของอียูว่า จะสร้างความไร้เสถียรภาพ ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษผ่านการกำหนดภาษีในระดับสูง งานทำที่ลดลงและทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ส่วนนาย David Davis รัฐมนตรีดูแลปัญหา Brexit ของอังกฤษได้ยอมรับว่า การเจรจากระบวนการ Brexit จะเป็นการเจรจาที่ซับซ้อนอย่างไม่เคยมีมาก่อนและอาจมีการเผชิญหน้าในบางปัญหา
ถึงแม้การเจรจาเกี่ยวกับกระบวน Brexit กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการ แต่การที่ 27 ประเทศสมาชิกอียูมีหลักการที่แข็งกร้าวในการเจรจากับอังกฤษแสดงให้เห็นว่า กระบวนการเจรจาดังกล่าวจะไม่ราบรื่นแน่นอน ซึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆหลังการเจรจา มาตรการที่ดีที่สุดคือต้องเร่งจัดทำข้อตกลงระหว่างอียูกับอังกฤษ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการประนีประนอมจากทั้ง 2 ฝ่าย.