บ้านของชาว ห่าญี่(photo baolaocai) |
เพลง ลาวกาย เมืองที่ฉันรัก
เพลงที่เพิ่งจบลงนั้นมีชื่อว่า ลาวกาย เมืองที่ฉันรัก ของนักดนตรี เยินเหวิ่ยน จากการขับร้องของเตินญ่าน เมื่อไปเที่ยวจังหวัดลาวกาย นอกจากได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆในท้องถิ่นผ่านการเที่ยวตลาดนัดเขตเขา อย่างตลาดนัดแห่งความรัก ซาปา ตลาดนัดบั๊กห่า ตลาดนัดเหมื่องฮุม เป็นต้น ซึ่งสถานที่เหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้นหากยังเป็นสถานที่สำหรับหนุ่มสาวได้มาพบปะหาคู่รักกันผ่านการแสดงร้องเพลงโต้ตอบและการเป่าแคน ตลอดจนเป็นที่สังสรรค์ของชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
เพลง วสันต์ฤดูเที่ยวงานเทศกาลบั๊กห่า
สำหรับเพลง วสันต์ฤดูเที่ยวงานเทศกาลบั๊กห่า ที่ท่านกำลังฟังนั้นมีเนื้อร้องที่สะท้อนบรรยากาศที่รื่นเริงและความสวยงามของวสันต์ฤดูในเขตเขาสูง “วสันต์เวียนมาแล้ว น้องเอยจะไปเที่ยวตลาดนัดบั๊กห่ากับพี่ ส่วนพี่หากจะรักน้องก็มาจูงมือกันไปดื่มด่ำกับบรรยากาศที่ครึกครื้นของเสียงฆ้อง เสียงกลอง เสียงแคนและลีลาเพลงพื้นเมืองได้ทำให้ซึ้งใจและขอให้ความรักที่มีต่อกันนั้นงดงามตลอดไป”
บนเส้นทางผ่านต.เหนิมปุง อ.บ๊าตซาด นั้น ภาพของบ้านจิ่งเตื่องของชาวห่าญี่ดำที่ดูเรียบง่ายด้วยหลังคาเขียวผุดโผล่กลางม่านหมอกแล้วเมื่อหมอกจางก็เหมือนดอกเห็ดยักษ์ที่ขึ้นตามไหล่เขาก็จะรู้สึกเหมือนหลงเข้าไปในหมู่บ้านนิทาน บ้านดอกเห็ดนี้มีอะไรน่าสนใจบ้างเรามาฟังสารคดีเรื่อง บ้านดอกเห็ดของชนเผ่าห่าญี่ดำในจังหวัดลาวกาย โดยคุณทวิชเป็นผู้เสนอ
บ้านจิ่งเตื่องมีผนังหนา40เซนติเมตร |
ชาวห่าญี่ดำที่อำเภอบ๊าตซาด จังหวัดลาวกายอาศัยในเขตเขาสูงประมาณสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพอากาศหนาวเย็นและมีหมอกจัดเกือบทั้งปี ดังนั้นบ้านเรือนก็ถูกออกแบบให้เข้ากับสภาพอากาศที่แปรปรวนนี้โดยเฉพาะผนังดินที่หนาหลายสิบเซนติเมตรเพื่อป้องกันลมหนาวที่รู้จักกันในชื่อ บ้านจิ่งเตื่อง โดยบ้านสไตล์นี้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนเผ่าห่าญี่ การปลูกบ้านดอกเห็ดนั้นถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดของชาวห่าญี่ดังนั้นข้อกำหนดต่างๆตามประเพณีจะได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและทุกขั้นตอนการสร้างบ้านต้องได้รับการเตรียมพร้อมอย่างดี เช่นการเลือกไม้ทำโครงบ้านต้องเตรียมก่อนหลายเดือนโดยต้องดูวันที่มีฤกษ์ดีถึงจะเข้าป่าหาไม้ เมื่อเลือกไม้สำหรับสร้างบ้าน ชาวห่าญี่ดำก็มีข้อห้ามที่ต้องคำนึงเช่น ไม่ไปเอาไม้ในช่วงหน้าฝนโดยต้องไปเอาไม้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น เมื่อเลือกต้นไม้ที่จะใช้ทำโครงหลักของบ้านก็ต้องเลือกเวลาฤกษ์งามยามดีให้คนที่เป็นผู้อาวุโสหรือหัวหน้าตระกูลมาเป็นคนตัดเอากลับบ้าน การเลือกต้นไม้ก็มีความสำคัญโดยต้องเป็นต้นไม้ที่ไม่มีตำหนิ ไม่ถูกฟ้าผ่า นายลี้เมอซา ชาวบ้านกินจูฝิ่น2 ตำบลเหนิมปูงเผยว่า“การเลือกวันเวลาก็เพื่อป้องกันวันของหนอนที่จะมาทำลายไม้ โดยมักจะเลือกวันที่สองและสามเดือนสองของปี ต้นไหนแม้จะดูสูงใหญ่สวยงามแต่ถ้ามีรอยฟ้าผ่าแล้วก็ไม่เอาเพราะจะทำให้คนในบ้านนั้นประสบปัญหาต่างๆทำอะไรก็ไม่สำเร็จ”
ชาวห่าญี่เชื่อว่าทำเลตั้งบ้านเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อที่จะนำความผาสุกโชคดีมาให้แก่คนในบ้านดังนั้นการเลือกจุดสร้างบ้านก็ทำกันอย่างรอบคอบ โดยจะเลือกตามหลักพื้นฐานคือต้องใกล้แหล่งน้ำ อยู่ริมป่า หลังบ้านคือภูเขา หน้าบ้านคือทุ่งนา ห้ามหันหน้าไปทางที่มีสุสาน ผู้ชายห่าญี่ต้องรู้จักการสร้างบ้านจิ่งเตื่องอย่างดี โดยหน้าแล้งช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคมคือช่วงที่เหมาะสมที่สุดเพื่อสร้างบ้านดิน นายลี้ญียอ ชาวบ้านกินจูฝิ่น1กล่าวถึงบ้านจิ่งเตื่องของชนเผ่าตนว่า “บ้านจิ่งเตื่องของชาวห่าญี่มีผนังหนาประมาณสี่สิบเซนติเมตร โดยส่วนประกอบของผนังนั้นนอกจากใช้ดินเหนียวเป็นหลักแล้วยังมีการผสมเศษหินเพื่อเพิ่มความแข็งแรงมั่นคงและแห้งเร็ว ต้องขุดเอาดินในส่วนลึกๆเพื่อให้มีความเหนียวนิ่มพอดี”
การจิ่งเตื่องของชาวห่าญี่ |
การจิ่งเตื่องหรือการทำอิฐสร้างผนังต้องใช้แม่พิมพ์ไม้ขนาดใหญ่ยาวสองเมตร กว้างประมาณ70เซนติเมตร โดยเอาดินผสมเศษหินใส่ในแม่พิมพ์แล้วใช้ไม้กระทุ้งดินให้แน่นตามขนาดที่ต้องการ โดยผนังมักจะสูง4-5เมตรด้านนอกและด้านในต้องทำให้มีความเรียบเนียน บ่านจิ่งเตื่องมีหลังคาสี่ส่วนที่มุงด้วยญ้าคาหนาประมาณสามสิบเซนติเมตร ทนต่อสภาพอากาศในเขตเขาสูงนี้นานถึง5-6ปี โดยบ้านของชาวห่าญี่ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีความแตกต่างกันเพื่อให้เข้ากับสภาพท้องถิ่นเช่น บ้านของชาวห่าญี่ที่จังหวัดลายโจว์มีลักษณะเตี้ย มีระเบียงด้านหน้า ในบ้านแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเป็นที่รับแขก ส่วนในแบ่งเป็นห้องๆเป็นที่ใช้สอยของสมาชิกในครอบครัว แต่ที่จังหวัดลาวกายชาวห่าญี่ดำสร้างบ้านจิ่งเตื่องที่มีผนังสูง หลังคาชันและสั้น ไม่มีระเบียง มีประตูทางเข้าเพียงช่องเดียว ด้านในบ้านยังมีผนังในอีกชั้นที่หนาพอๆกับผนังชั้นนอกเพื่อให้ความอบอุ่นและเพื่อความปลอดภัย ดร.เจิ่นหิวเซิน รองนายกสมาคมวรรณศิลป์พื้นบ้านอธิบายว่า“บ้านด้านในของชาวห่าญี่มีทรงสี่เหลี่ยมแต่มองจากภายนอกเหมือนเป็นดอกเห็ดทรงกลมเพราะรอบๆบ้านมีการเปิดช่องเล็กๆบนผนังเพื่อใช้ป้องกันข้าศึกหรือต่อสู้กับสัตว์ร้ายเหมือนป้อมปราการ ซึ่งบ้านจิ่งเตื่องถือเป็นความดีเลิศแห่งภูมิปัญญาของชาวห่าญี่ในการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากอาศัยในเขตเขาสูงจึงต้องเผชิญกับอากาศชื้น หมอกจัด ดังนั้นหากบ้านมีผนังหนาก็สามารถป้องกันไม่ให้สิ่งของในบ้านขึ้นรา หน้าหนาวก็อุ่นหน้าร้อนเย็นสบาย”
อีติ๊ ได้รับฉายาว่าเป็นแดนในหมอกเพราะมีน้อยวันที่จะเห็นแสดงแดดสาดส่อง |
กาลเวลาผ่านไปเป็นร้อยๆปีนับตั้งแต่มาตั้งหลักแหล่งอาศัยในเขตเขาสูง เอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมบ้านเรือนพร้อมประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชนเผ่าห่าญี่ดำยังคงได้รับการสืบทอดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์ เมื่อมาเที่ยวผืนดินแห่งนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงามของป่าเขาที่กว้างใหญ่ไพศาลแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถชื่นชมความงามของธรรมชาติได้อย่างเต็มอิ่มโดยเฉพาะบ้านดอกเห็ดที่ผุดโผล่ตามไหล่เขาที่สร้างเป็นภาพอันน่าประทับใจแน่นอน
เพลง สีสันอีติ๊
หนึ่งในจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในจังหวัดลาวกายที่ต้องเอ่ยชื่อนอกจากเมืองในหมอกซาปาก็คือ อีติ๊ อ.บ๊าตซาด ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นแดนในหมอกเพราะมีน้อยวันที่จะเห็นแสดงแดดสาดส่อง ที่นี่มีนาบันไดที่สวยงามน่าอัศจรรย์ใจ และก็เป็นที่รวมบ้านจิ่งเตื่องหรือบ้านดอกเห็ดที่เราได้แนะนำในสารคดีที่เพิ่งจบลงไปแล้ว ซึ่งความงดงามแสนโรแมนติกของผืนดินอีติ๊ก็ได้บันดาลใจให้นักดนตรีเหงวียนทั้งประพันธ์เพลง สีสันอีติ๊ ที่เราจะเปิดให้ฟังต่อไปนี้ ซึ่งเพลง สีสันอีติ๊จากการขับร้องของดงหุ่งก็เป็นการปิดท้ายรายการเที่ยวเวียดนามวันนี้ สวัสดี.