ค้นคว้าเขตที่ราบสูงหินด่งวัน แหม่วหวาก จังหวัดห่ายาง

To Tuan/VOV5
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ที่ราบสูงหินด่งวันที่จังหวัดห่ายางเป็นพื้นที่ที่ได้รับฉายาว่ามีภูมิทัศน์ที่เขาตระหง่านที่สุดของเวียดนามเพราะที่นี่มีธรรมชาติงดงามและอุดมสมบูรณ์อย่างน่าประทับใจรวมทั้งยังมีความหลากหลายและมีคุณค่าเชิงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆที่อาศัยในเขตเขาสูง ซึ่งได้กลายเป็นจุดหมายของผู้ที่ชอบการค้นคว้าและการท่องเที่ยวแบบผจญภัย
ค้นคว้าเขตที่ราบสูงหินด่งวัน แหม่วหวาก จังหวัดห่ายาง - ảnh 1เส้นทางไปที่ด่งวัน (lananh) 

 จากตัวเมืองห่ายางเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข4cประมาณ45กิโลเมตรก็ถึงอำเภอเมือง กว๋านบะ และถ้าจะเดินทางต่อไปตามเส้นทางนี้แล้วข้ามช่องเขาก๊านติ๋ที่สูงชัน ผ่านป่าสนที่กว้างใหญ่ ผ่านไหล่เขาที่คดเคี้ยวเราจะถึงเขตสามเหลี่ยมเอียนมิงห์ ด่งวัน แหม่วหวาก  เพื่อค้นคว้าที่ราบสูงหินด่งวันซึ่งตั้งอยู่บนความสูงตั้งแต่1,400-1,600เมตรเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลรวมพื้นที่กว่า2,500ตารางกิโลเมตร  ซึ่งนี่ถือเป็นแหล่งภูเขาหินปูนพิเศษของเวียดนามที่สะท้อนร่องรอยโดดเด่นของการพัฒนาของผิวโลกในประวัติศาสตร์ ด่งวันมีพื้นที่ร้อยละ80เป็นหินปูนที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในระยะการพัฒนาต่างๆ โดยจนถึงขณะนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์สามารถวิจัยระบุมรดกทางธรณีวิทยา139แห่งซึ่งในนั้นมีมรดกทางธรณีวิทยาโลก15แห่ง ระดับชาติ68แห่งและระดับท้องถิ่น56แห่ง นอกจากนั้นนักโบราณคดียังค้นพบฟอสซิลพืชและสัตว์ที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุอายุของแหล่งธรณีในที่ราบสูงหินด่งวันและลักษณะทางธรณีวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม โดยความหลากหลายทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในเวลาหลายล้านปีได้สร้างเป็นผลงานศิลปะแห่งธรรมชาติอย่างน่ามหัศจรรย์คือสวนหิน ป่าหิน ที่มีหลากหลายลักษณะเช่น สวนหินเคาวายที่มียอดหินน้อยใหญ่เหมือนดอกไม้ทั้งตูมทั้งบาน สวนหินหลุงปู่ที่หินมีรูปร่างเหมือนมังกรเหินฟ้าหรือเสือหมอบ หรือมีสวนหินที่ก้อนหินมีลักษณะกลมเรียบเนียนทับซ้อนกันดูเหมือนฝูงแมวน้ำหลายพันตัวกำลังนอนตากแดดบนชายหาด นาย โห่เตี๊ยนจูง นักวิจัยด้านธรณีวิทยา เผยว่า “ตามข้อมูลการวิจัยของสถาบันธรณีวิทยาและแร่ธาตุกับนักสำรวจถ้ำของเบลเยี่ยมที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ ในเขตที่ราบสูงหินด่งวันยังมีจุดวิจัยที่สำคัญหลายแหล่งรวมทั้งระบบถ้ำหินที่มีพื้นที่หลายพันตารางเมตร ซึ่งมีความหมายสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาการท่องเที่ยว

ค้นคว้าเขตที่ราบสูงหินด่งวัน แหม่วหวาก จังหวัดห่ายาง - ảnh 2

ในเขตที่ราบสูงหินด่งวัน แหม่วหวากเป็นพื้นที่ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติที่สุด โดยตั้งแต่ค้นพบมาจนถึงปี1965เส้นทางไปยังแหม่วหวากมีทางเดียวที่กว้างพอสำหรับม้าขนของและคนเดิน แต่ปัจจุบันนี้เส้นทางผ่านช่องเขาม้าปีแหล่งได้รับการพัฒนาให้รถยนต์สามารถเข้าได้โดยจะแล่นผ่านถนนที่คดเคี้ยวโอบล้อมตามไหล่เขา อันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความดีเลิศของฝีมือและภูมิปัญญาของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างน่ามหัศจรรย์ในเขตเขาสูง มองจากไกลๆก็จะเห็นน้ำตกหลายแห่งที่ไหลลัดเลาะลงมาจากยอดเขา นาขั้นบันไดที่ต่อกันเป็นชั้นๆ บ้านไม้ยกพื้นที่เรียบง่ายผุดโผล่หลังกำแพงรั้วหิน หรือท่ามกลางสวนดอกท้อดอกพลัมสีขาวที่บานทั่วป่าเมื่อวสันต์เวียนมา ซึ่งได้สร้างเป็นภาพที่งดงามแสนโรแมนติก นาย เจิ่นแทงหว่าง มัคคุเทศก์ท้องถิ่นเผยว่า “ในวงการท่องเที่ยว ช่องเขาม้าปีแหล่งเป็นหนึ่งในช่องเขาที่สูงและคดเคี้ยวที่สุดของภาคเหนือตะวันตก แม้ความยาวจะไม่เท่าช่องเขาอื่นๆแต่ก็มีความสูงชันและอันตรายที่สุด ในภาษาท้องถิ่น ม้าปีแหล่งความหมายคือ สันจมูกม้า ที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นช่องเขาที่ชันและสูงมาก ซึ่งในอดีตถ้าม้าตัวไหนไม่แข็งแรงพอก็ไม่สามารถข้ามช่องเขานี้ได้ เส้นทางรถยนต์บนเขาสร้างโดยมนุษย์และประธานโฮจิมินห์ได้ตั้งชื่อว่า เส้นทางแห่งความสุข ด้วยความหมายจะนำความสุขไปให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตเขาสูงนี้

ค้นคว้าเขตที่ราบสูงหินด่งวัน แหม่วหวาก จังหวัดห่ายาง - ảnh 3

ในหลายปีมานี้ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นแนวทางใหม่ของทางอ.แหม่วหวาก โดยเฉพาะนับตั้งแต่องค์การยูเนสโก้ได้รับรองที่ราบสูงหินด่งวันเป็นสวนธรณีวิทยาโลก ได้มีการพัฒนายกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ช่วยให้การเดินทางไปมาค้าขายสะดวกมากขึ้น งานเทศกาลและตลาดนัดเขตเขาที่โดดเด่นต่างๆเช่น ตลาดแห่งความรักเคาวาย เทศกาลดอกตามยากแหมก-ดอกบักวีต เทศกาลโหล่งโต่งของชนเผ่าไต เทศกาลเกิ๊บซักของชาวเย้า เป็นต้น ได้รับการธำรงและพัฒนา ซึ่งช่วยสร้างเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้มาเยือนด่งวัน-แหม่วหวาก.                             

Feedback

Mayuree Suesat