ประตูด้านหน้าที่มีฐานปืนใหญ่(internet) |
หอธงชาติตรงกลางกำแพง(internet) |
กำแพงเก่าเซินเตยมีพื้นที่16เฮกต้าโดยมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นน่าสนใจต่างๆเช่น ผนังกำแพงที่ทำจากหินศิลาแลง ประตู4ทิศทำจากอิฐโบราณและทางเข้าประตูที่ต้องข้ามคูน้ำ โดย เป็นกำแพงที่ได้รับการก่อสร้างอย่างมั่นคงเพื่อปกป้องภูมิภาคทางทิศเหนือของทังลองและถือเป็นเขตโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ด้านการทหารที่มีความสวยงามที่สุดที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นอย่างสมบูรณ์ ภายในกำแพงนอกจากมีการขุดหลุมเพลาะเป็นแนวยาวเหยียดหลายแนวสลับซับซ้อนกันแล้วยังมีการปลูกต้นไผ่จำนวนมาก ตั้งฐานปืนใหญ่ที่ด้านหน้ากำแพงเพื่อการป้องกันและโจมตี ภายในกำแพงมีการตั้งหอธงชาติที่ทั้งเป็นเสาธงและเป็นจุดสูงสุดเพื่อสังเกตการณ์ ปี1940บนยอดหอธงนี้ได้รับการติดตั้งระบบรับส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเวลา ข่าวสาร และเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ประชาชนในท้องที่รับทราบ นาย ฝามหุ่งเซิน หัวหน้าฝ่ายบริหารโบราณสถานกำแพงเมืองเก่าเซินเตยเผยว่า สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในกำแพงคือวังกิ๊งเทียนและประตูดวานโหมนโบราณ
“ทั้งสองสถาปัตยกรรมนี้ถูกก่อสร้างเพื่อเป็นที่รับเสด็จกษัตริย์มิงหมางในการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งนอกจากมีความหมายด้านสถาปัตยกรรมศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว กำแพงแห่งนี้ยังมีความหมายเชิงจิตวิญญาณเพราะเป็นสถานที่จัดพิธีเซ่นไหว้ขอพรให้ประเทศชาติมีความสงบสุขในสมัยกษัตริย์มิงหมางอีกด้วย”
ประตูแห่งหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ (internet) |
ตั้งแต่อดีต กำแพงโบราณเซินเตยได้เข้าสู่จิตใจของชาวเวียดนามผ่านบทกลอนที่สะท้อนประวัติศาสตร์แห่งชาติที่รุ่งโรจน์และยืนยันบทบาทการเป็นแนวป้องกันที่มั่นคงและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เวียดนาม ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คุณเจิ่นหว่ายหงอก นักท่องเที่ยวจากนครโฮจิมินห์เผยว่า“กำแพงเมืองเซินเตยมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นกว่าที่อื่นที่ดิฉันเคยไป ซึ่งภายในกำแพงยังคงรักษาโบราณสถานต่างๆไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะต้นไม้ร่มรื่นมาก โดยกำแพงเมืองเซินเตยยังอยู่ใกล้กับหมู่บ้านโบราณเดื่องเลิม หมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่าหรือวิหาร หว่า ซึ่งก็สะดวกในการเดินทางไปเที่ยว”
ผ่านไปเกือบ200ปี แม้สิ่งปลูกสร้างต่างๆในกำแพงแห่งนี้ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและถูกทำลายในช่วงสงคราม แต่ทางคณะกรรมการบริหารโบราณสถานกำแพงเซินเตยพร้อมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศได้ร่วมทำการวิจัยทางโบราณคดีเพื่อฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างต่างๆให้สมบูรณ์เหมือนเดิมที่สุด เช่น ผนังกำแพง ประตูทางเข้า บ่อน้ำ ฐานปืนใหญ่ เป็นต้น อันเป็นการมีส่วนร่วมส่งเสริมคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว.