นาง เหยียบถิจาง มีส่วนช่วยฟื้นฟูหมู่บ้านศิลปาชีพจักสานไม้ไผ่โย่งดิ่ง (baotravinh.vn) |
หมู่บ้านศิลปาชีพจักสานไม้ไผ่ โหย่งดิ่ง มีประวัติการทำอาชีพนี้มาเกือบ 90 ปี แต่ในช่วงประมาณปี 2000 ผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านโหย่งดิ่ง ได้ประสบความยากลำบากในการจำหน่ายจนคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เลิกทำอาชีพนี้ แต่จากความหลงใหลในอาชีพพื้นเมืองนี้ นาง เหยียบถิจาง ได้ตั้งใจศึกษาความต้องการในตลาด แล้วพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการผลิตของที่ระลึกเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวเพื่อมีส่วนช่วยฟื้นฟูหมู่บ้านศิลปาชีพจักสานไม้ไผ่โย่งดิ่ง นาง เหยียบถิจาง กล่าวว่า
“เราเปิดธุรกิจครัวเรือนเมื่อปี 2007 เมื่อก่อน เราก็ผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนเหมือนหลายๆ ครอบครัวในหมู่บ้าน แต่ต้องใช้วัตถุดิบมากทำให้กำไรได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้เราได้เปลี่ยนมาจักสานเครื่องใช้ในครัวขนาดเล็กๆ เพื่อเป็นของที่ระลึกเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยว ในหมู่บ้าน มีแต่ครอบครัวของเราที่ทำแบบนี้ โดย 1 ชุดจะมีของใช้ 12 อย่าง เช่น ฝาชี กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน แจกัน เป็นต้น ขายในราคา 1 แสนด่ง นอกจากนี้ ทางการจังหวัดซอกจังได้เข้ามาช่วยจำหน่ายสินค้าของเรา มีจำหน่ายทั้งในและต่างจังหวัด รวมทั้งขายที่กรุงฮานอยด้วย ตอนนี้เรามีแรงงานเกือบ 90 คนแต่ก็ยังผลิตไม่ทัน”
เมื่อปี 2019 ชุดเครื่องใช้ในครัวเรือนของนางจางได้รับใบรับรองมาตรฐาน OCOP สามดาวของคณะกรรมการประชาชนจังหวัดจ่าวิงห์ โดยสหพันธ์สตรีเวียดนามได้ส่งตัวแทนมาศึกษาเพื่อจัดทำแนวทางสนับสนุนให้ธุรกิจครัวเรือนนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากความขยันหมั่นเพียน ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างฐานะให้แก่ครอบครัวและมีส่วนร่วมต่อชุมชน นาง เหยียบถิจาง ได้รับหนังสือชมเชยจากประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดจ่าวิงห์ในการเป็น “ สตรีตัวอย่าง”
ปัจจุบันนี้ ในแต่ละเดือน นาง เหยียบถิจางสามารถผลิตชุดเครื่องใช้ในครัวเรือนได้ประมาณ 12,000 ชุด โดยจำหน่ายในทั่วประเทศ โดยเฉพาะสถานประกอบการหลายแห่งในจังหวัดบ๋ากเลียว จังหวัดซ๊อกจัง เมืองหวุงเต่าและนครโฮจิมินห์ได้สั่งซื้อเพื่อส่งไปจำหน่ายต่อในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งช่วยให้แรงงานมีเงินเดือนประมาณ 2.5-5 ล้านด่ง นาง เลิมถิจุง แรงงานคนหนึ่งกล่าวว่า
“ฉันสานแจกันได้วันละ 12 ใบ มีรายได้ 9 หมื่นด่ง ฉันทำงานที่นี่นานแล้ว ”
ธุรกิจครัวเรือนของนาง เหยียบถิจาง ได้ช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างครอบครัวต่างๆ สร้างงานทำให้แก่แรงงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะสตรี ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องไปหางานทำในต่างจังหวัด มีเวลาดูแลครอบครัว ทำไร่ทำนาและมีรายได้เสริม นาง กิมถิแถ่ง แรงงานคนหนึ่งกล่าวว่า
“ดิฉันทำงานที่นี่ได้หลายปีแล้ว ได้เงินวันละ 50,000 ด่ง หลังจากทำกับข้าวเสร็จ ฉันก็นั่งสานไม้ไผ่ต่อ”
ปัจจุบันนี้ สินค้าหัตถกรรมของธุรกิจครัวเรือนของนางจางได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีใบสั่งซื้อสูงกว่ากำลังการผลิต ดังนั้น นาง จาง กำลังวางแผนจัดตั้งสหกรณ์เพื่อขยายการผลิตและมีส่วนร่วมอนุรักษ์หมู่บ้านศิลปาชีพจักสานโหย่งดิ่งอีกด้วย.