ผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดดั๊กลั๊กกับโอกาสเจาะตลาดจีนอย่างเป็นทางการ

Tuấn Anh - Vĩnh Phong
Chia sẻ
(VOVWORLD) -สวนทุเรียนในจังหวัดดั๊กลั๊กกำลังเตรียมเข้าสู่ฤดูเก็บผลผลิต ซึ่งประจวบกับช่วงเวลาที่พิธีสารว่าด้วยการตรวจสอบและกักกันโรคในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีนได้รับการลงนาม นี่ถือเป็นการเปิดโอกาสให้สถานประกอบการและเกษตรกรสามารถส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังตลาดจีนได้อย่างเป็นทางการ
ผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดดั๊กลั๊กกับโอกาสเจาะตลาดจีนอย่างเป็นทางการ - ảnh 1สวนทุเรียนในจังหวัดดั๊กลั๊กกำลังเตรียมเข้าสู่ฤดูเก็บผลผลิต 

ถึงแม้ยังไม่ถึงฤดูเก็บผลผลิตแต่สวนปลูกทุเรียนในพื้นที่กว่า 2 เฮกตาร์ของครอบครัวนาง เลถิแทงทวี้ ในหมู่บ้านยุง ตำบลอีอาโยง อำเภอโกรงปั๊ก จังหวัดดั๊กลั๊กก็มีพ่อค้าแม่ค้ามาถามซื้อทุเรียนทุกวัน นางทวี้ บอกว่า ราคาทุเรียนปีนี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ประมาณ 50,000 ด่งต่อกิโลกรัม สูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับฤดูก่อน ซึ่งส่วนต่างนี้ช่วยชดเชยปริมาณผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากฝนตกหนักในช่วงออกดอกและเธอก็หวังว่า การส่งออกอย่างเป็นทางการนี้จะช่วยให้ราคาทุเรียนมีเสถียรภาพมากขึ้น

“ เรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ภาครัฐสามารถลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อปีที่แล้ว ทุเรียนมีราคาประมาณ 20,000 – 25,000 ด่งต่อกิโลกรัมแต่ปีนี้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่วนเกษตรกรก็พยายามลงทุนปลูกทุเรียนให้ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกอย่างเป็นระบบซึ่งช่วยให้ราคามีเสถียรภาพ”

ส่วนสถานประกอบการที่สั่งซื้อทุเรียนเพื่อการส่งออกก็มีความยินดีเป็นอย่างมากที่พิธีสารดังกล่าวได้รับการลงนาม นาย เลแองจุง ผู้อำนวยการที่ดูแลเขตปลูกวัตถุดิบของบริษัทหุ้นส่วนนำเข้าและส่งออกหยุงท้ายเซิน ในตำบลอีอาเกง อำเภอโกรงปั๊ก จังหวัดดั๊กลั๊กเผยว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับสถานประกอบการนำเข้าและส่งออกทุเรียนเพราะว่า ในช่วงก่อน ถึงแม้สถานประกอบการได้สร้างห่วงโซ่การเชื่อมโยงและพื้นที่ปลูกทุเรียนที่มีรหัสแล้ว แต่การส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีนยังเป็นแบบไม่เป็นทางการ จึงต้องผ่านแม่ค้าพ่อค้าหลายต่อทำให้ราคาทุเรียนแพงขึ้น

จังหวัดดั๊กลั๊ก มีพื้นที่ปลูกทุเรียนเกือบ 17,000 เฮกตาร์ มีปริมาณผลผลิตประมาณ140,000 ตัน ซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 70 ส่งออกไปยังตลาดจีนแบบไม่เป็นทางการ อำเภอโกรงปั๊กเป็นหนึ่งในอำเภอที่ปลูกทุเรียนมากที่สุด โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 4,000 เฮกตาร์และปีก่อนปริมาณผลผลิตทุเรียนประมาณ 50,000 ตัน นาง โงถิมิงห์จิง รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอฯ เผยว่า เครื่องหมายการค้าทุเรียนของโกรงปั๊กได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น ทางอำเภอฯ จะใช้โอกาสจากพิธีสารเพื่อผลักดันการส่งออกอย่างเป็นทางการ

“หลังจากที่กรมลิขสิทธิ์ทางปัญญาได้รับรองเครื่องหมายการค้าชุมชนของอำเภอโกรงปั๊ก ทางอำเภอได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรยกระดับคุณภาพของทุเรียนเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ในการส่งออกอย่างเป็นทางการไปยังตลาดจีน ในเวลาที่ผ่านมา ทางอำเภอได้จัดทำมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐาน Vietgap และสอนวิธีการปลูกแบบอินทรีย์ให้แก่เกษตร นอกจากนี้ ทางอำเภอก็ขยายการรับรองรหัสพื้นที่ปลูก โดยขณะนี้มีพื้นที่ปลูกกว่า 1,000 เฮกตาร์ที่ได้รับรหัสแล้ว และในเร็วๆนี้ เราจะรับรองรหัสให้แก่พื้นที่ปลูกทุเรียนอีกประมาณ 1,000 เฮกตาร์”

ผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดดั๊กลั๊กกับโอกาสเจาะตลาดจีนอย่างเป็นทางการ - ảnh 2ภายในบริษัทหุ้นส่วนนำเข้าและส่งออกหยุงท้ายเซิน

นายหวูดึ๊กกน รองผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบทจังหวัดดั๊กลั๊ก เผยว่า เพื่อใช้โอกาสจากการส่งออกอย่างเป็นทางการไปยังตลาดจีน ทางจังหวัดได้เน้นพัฒนาเขตปลูกวัตถุดิบที่ยั่งยืนตั้งแต่ที่เริ่มจัดทำพิธีสาร  พร้อมทั้งประสานงานกับกรมคุ้มครองพันธุ์พืชสังกัดกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ แนะนำและออกรหัสเขตปลูกและสถานที่บรรจุหีบห่อผลไม้สดเพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งถึงขณะนี้ สามารถพัฒนาเขตปลูกเพื่อการส่งออกได้กว่า 1,500 เฮกตาร์และรับรองรหัสของสถานที่หีบห่อ 24 แห่ง นาย หวูดึ๊กกน กล่าวว่า

“แม้รหัสที่ได้รับการรับรองจากฝ่ายจีนและพิธีสารดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เพื่อสามารถส่งออกได้ เราต้องผ่านการตรวจสอบด้านคุณภาพด้วย ดังนั้น ถ้าต้องการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน เราก็ต้องพยายามอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการปลูก การดูแล การหีบห่อและการขนส่งให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศที่นำเข้า”

จังหวัดดั๊กลั๊กได้เตรียมความพร้อมให้แก่การส่งออกทุเรียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งการลงนามพิธีสารดังกล่าวถือเป็นก้าวเดินที่สำคัญเพื่อช่วยให้ทุเรียนเวียดนามสามารถเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเจาะตลาดเหล่านี้ได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะตลาดจีน ทางการจังหวัดดั๊กลั๊กกำลังส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้า ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปลูกและดูแลสวนทุเรียน ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆในพิธีสารเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนและโอกาสให้การปลูกทุเรียนของเวียดนาม โดยเฉพาะในจังหวัดดั๊กลั๊กพัฒนาอย่างยั่งยืน.

Feedback