(VOVworld) - จากการพยากรณ์อากาศปีนี้จะเกิดภัยแล้งในพื้นที่กว้าง ตั้งแต่ต้นฤดูปลูกข้าวนี้ ท้องถิ่นต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่นํ้าโขงได้ปลูกพืชอื่น ๆ แทนการปลูกข้าวเพื่อรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ช่วยประหยัดนํ้าในการผลิตเกษตร
(Photo: tin247.com)
|
ในฤดูปลูกข้าวปีนี้ นาย เลตังในตำบลบิ่งฟู้ อำเภอเตินห่ง จังหวัดด่งท้าบได้ปลูกถั่วลิสงแทนการปลูกข้าวเนื่องจากดินปนทรายที่นี่เหมาะสำหรับปลูกถั่วลิสง นาย เลตังบอกว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่นับวันรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ต้องการนํ้าน้อยถือเป็นมาตรการที่ดีในปัจจุบันและเผยว่า“หลังเทศกาลตรุษเต๊ตไม่กี่เดือน ชาวบ้านได้ปลูกพืชอื่น ๆ แทนการปลูกข้าวเนื่องจากขาดแคลนนํ้า เช่น การปลูกถั่วลิสงซึ่งลงทุนไม่สูงและไม่ต้องใช้น้ำเยอะ”
นอกจากการปลูกถั่วลิสงแล้ว ที่จังหวัดต่างๆ เช่น ก่าเมาและเหายาง ชาวบ้านได้ปลูกถั่วเขียวและสับปะรดแทนการปลูกข้าวและมีแผนขยายการปลูกพืชดังกล่าวเพื่อรับมือภัยแล้งในเวลาข้างหน้า รองศาสตราจารย์ ดร. โจว์มิงโทย หัวหน้าคณะการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพของมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอได้เผยว่า ในสถานการณ์ภัยแล้งและนํ้าทะเลซึมในปัจจุบัน ต้องเลือกปลูกพืชที่ต้องการนํ้าน้อย สำหรับเขตที่เหมาะกับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ต้องกำหนดเวลาผันน้ำเข้านาเป็นช่วง ๆ ซึ่งสามารถประหยัดนํ้าได้กว่าร้อยละ 20 ซึ่งวิธีนี้ได้ประสบความสำเร็จในบางพื้นที่ในจังหวัดอานยางและบ่ากเลียว รองศาสตราจารย์ ดร. โจว์มิงโทยกล่าวว่า“วิธีการผันน้ำเข้านาตามประเภทของดินและการอุ้มน้ำหมายถึง การผันนํ้าเข้าให้เต็มทุ่งนาแล้วปล่อยให้น้ำซึมลงไปในดิน โดยไม่ต้องผันนํ้าบ่อย ๆ สำหรับดินที่อุ้มนํ้าได้น้อยและแห้งเร็วนั้น ต้องผันนํ้าอีกรอบเมื่อเห็นผิวดินแห้ง ส่วนสำหรับดินเหนียวที่อุ้มนํ้าได้มาก ก็รอให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน 5 – 10 ซม.แล้วค่อยผันน้ำอีกทีก็ได้”
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างรอบคอบ รองศาสตราจารย์ ดร.เลแองต๊วน รองหัวหน้าสถาบันวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสังกัดมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอได้เผยว่า การประหยัดนํ้าเพื่อสนับสนุนการผลิตเกษตรมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนวณความต้องการน้ำของพืช รวมทั้งปริมาณการใช้น้ำเพื่อกำหนดเวลาการรดนํ้า หรือ สูบนํ้าเข้านาอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งบริหารจัดการนํ้าชลประทานควบคู่ไปกับการจัดสรรค์นํ้าบริโภคและการเลี้ยงปลา รองศาสตราจารย์ ดร.เลแองต๊วนเผยต่อไปว่า“พวกเรามีโครงการวิจัยหลายโครงการเกี่ยวกับการประหยัดนํ้า เช่น การรดนํ้าหรือการทำระบบน้ำหยดใส่พืชที่ปลูกบนดินปนทราย ซึ่งช่วยประหยัดนํ้าได้ร้อยละ 30 – 40 และยกระดับประสิทธิภาพของการรดนํ้าสูงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับวิธีการรดนํ้าแบบธรรมดา”
เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ท้องถิ่นต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่นํ้าโขงกำลังปฏิบัติวิธีรดนํ้าอย่างประหยัดและอนุรักษ์ทรัพยากรนํ้าเพื่อรับมือภัยแล้งและปัญหานํ้าทะเลซึม อีกทั้งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพืชให้เหมาะสมและหลากหลาย วิจัยและคัดเลือกพันธุ์พืชที่สามารถทนแล้งทนเค็ม นอกจากนี้ จังหวัดต่างๆยังได้ปรับปรุงระบบเขื่อนและแนวกั้นน้ำทะเลเลียบตามแม่นํ้าใหญ่ๆ อีกทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในเขตปลูกไม้ผลเพื่อรับมือภัยแล้งและปัญหานํ้าทะเลซึมในเขตที่ราบลุ่มแม่นํ้าโขง.