ช่างศิลป์และเครื่องปั้นดินเผา |
ชนเผ่าจามอาศัยในเขตริมฝั่งทะเลภาคกลางเวียดนามนับตั้งแต่อดีต โดยได้พัฒนาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากการประกอบอาชีพพื้นเมือง เช่น ทำการเกษตรและทอผ้า อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาของชนเผ่าจามในจังหวัดบิ่งถวน ก็เป็นหนึ่งในอาชีพพื้นเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์มาตราบเท่าทุกวันนี้
ปัจจุบัน จังหวัดบิ่งถวนมีหมู่บ้านของชนเผ่าจาม 26 แห่งแต่มีเพียงชาวบ้านในหมู่บ้านบิ่งดึ๊ก ตำบลฟานเหียบ อำเภอบั๊กบิ่งเท่านั้นที่ยังคงประกอบอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผา บรรดาช่างศิลป์ได้เผยว่า อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้านบิ่งดึ๊กมีมานานแล้วและได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นาง เดินถิเหียว หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาบิ่งดึ๊กได้เผยว่า
“ดิฉันทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ดิฉันไม่มีพ่อแม่ ดิฉันเรียนอาชีพนี้จากเพื่อนบ้านเพื่อเลี้ยงตัวเอง เมื่อดิฉัน อายุ 44 ปี ดิฉันได้มีโอกาสไปเรียนอาชีพเป็นเวลา 2 เดือนและแสดงฝีมือของตนที่ญี่ปุ่น ซึ่งเพื่อนชาวญี่ปุ่นชอบมาก พวกเขาชอบผลิตภัณฑ์ของเวียดนามและเผยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือของเวียดนามสวยมาก”
หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาของชนเผ่าจามบิ่งดึ๊กยังคงอนุรักษ์คุณค่าวัฒนธรรมพื้นเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านเทคนิคการทำ โดยไม่ใช้แป้นหมุน การเผากลางแจ้ง โดยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนเผ่าจาม ซึ่งอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพพื้นเมืองที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าจาม ดังนั้น เมื่อปี 2012 กระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยวจึงได้ระบุอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาของชนเผ่าจามจังหวัดบิ่งถวนเข้าในรายชื่อมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของประเทศ นอกจากนี้ จังหวัดบิ่งถวนได้จัดทำเอกสารเพื่อยื่นเสนอให้ยูเนสโกพิจารณาระบุอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาของชนเผ่าจามในบิ่งดึ๊กเข้าในรายชื่อมรดกวัฒนธรรมนามธรรมที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
ดินเหนียวสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผา |
แต่อย่างไรก็ดี จากแรงกดดันของเศรษฐกิจเชิงตลาด ขอบเขตการผลิตของหมู่บ้านแห่งนี้กำลังลดลง จำนวนครอบครัวที่ประกอบอาชีพได้ลดลงจาก 100 ครอบครัวเหลือ 64 ครอบครัว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่สามารถขายได้ในราคาสูง การจำหน่ายไม่มีเสถียรภาพและประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบ เช่น ดินเหนียว
จากสถานการณ์ดังกล่าว นับตั้งแต่ปลายปี 2020 ทางจังหวัดฯได้ทำการสำรวจและพบว่า เขตในหมู่บ้านหายทวี๊ ตำบลหายนิง อำเภอบั๊กบิ่งมีดินเหนียวจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาได้ นาย หวี่ญยวีโทย รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบั๊กบิ่ง จังหวัดบิ่งถวนได้เผยว่า ทางอำเภอฯได้กำชับให้สำนักงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาแหล่งวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบการ
“สำนักงานการก่อสร้างได้ส่งเอกสารถึงคณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯเกี่ยวกับปัญหานี้ เนื่องจากดินเหนียวสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผาแตกต่างกับดินเหนียวที่ใช้ทำอิฐ ดังนั้น จึงขอให้แก้ไข เพิ่มเติมเพื่อใช้พื้นที่ 3 เฮกตาร์นั้นเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ตามกฎหมายแร่ธาตุ”
นอกจากการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่มีเสถียรภาพและถูกต้องตามกฎหมาย จังหวัดบิ่งถวนยังวางแผนการหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง การวางผังการผลิตของหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาจามบิ่งดึ๊ก นาย หวอวันหว่า ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์บิ่งถวนได้เผยว่า
“ พวกเรากำลังแสวงหานักลงทุนที่ให้ความสนใจต่อการอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์และพัฒนาเครื่องหมายการค้าเครื่องปั้นดินเผาในอนาคต การพัฒนาหมู่บ้านทำเครื่องเซรามิกผสานกับการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ หมู่บ้านศิลปาชีพมีโอกาสพัฒนา”
สถานการณ์ที่เป็นจริงได้แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่ได้รับการวางผัง หมู่บ้านศิลปาชีพบางแห่งได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้า เช่น หมู่บ้านทำเครื่องเซรามิกเบ่าจุ๊กในจังหวัดนิงถวน ดังนั้น ควบคู่กับการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อการผลิตและการหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การวางผังหมู่บ้านศิลปาชีพผสานกับรูปแบบการท่องเที่ยว จะช่วยให้หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาจามบิ่งดึ๊กพัฒนาต่อไปและอนุรักษ์อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีประวัติยาวนานนับร้อยปี.