นาง เลถิกิมจี ผู้อำนวยการสหกรณ์ฯ |
นาง เลถิกิมจี ได้ก่อตั้งสหกรณ์การค้าและบริการเกษตรปลอดสารพิษ หมีฟอง เมื่อปี 2017 เพื่อทำการผลิตและจัดจำหน่ายผักผลไม้โดยเน้นการการปลูกแคนตาลูป ก่อนหน้านี้ นาง จี ได้ปลูกแคนตาลูปในพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเห็นว่า การปลูกแคนตาลูปให้ผลผลิตที่ดีและการแข่งขันยังไม่ค่อยสูงมากนักเหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ เธอจึงตัดสินใจเช่าที่ดินต่อเพื่อขยายกิจการ ซึ่งในช่วงแรก สหกรณ์มีสมาชิกเพียง 30 คนเท่านั้น แต่ด้วยการบริหารงานอย่างแข็งขันและคล่องตัวของนาง เลถิกิมจี จนถึงปัจจุบัน สหกรณ์การค้าและบริการเกษตรปลอดสารพิษ หมีฟอง มีสมาชิกที่เชี่ยวชาญด้านการปลูกแคนตาลูปกว่า 100 คน พร้อมโรงเรือนตาข่ายกว่า 100 หลัง โดยผลิตภัณฑ์แคนตาลูปที่เธอปลูกได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคขั้นสูง ซึ่งมีการเพาะปลูกในโรงเรือนตามมาตรฐาน VIETGAP ดังนั้น จึงได้ผลผลิตที่ดีและคุณภาพสูง นอกจากการค้าปลีกแล้ว คุณ จี ยังได้ลงนามสัญญากับระบบซูเปอร์มาร์เก็ต แบ๊กฮว้าแซง รวมถึงการรับซื้อจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง นาง เลถิกิมจี ได้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพของเธอว่า
“ยิ่งฉันได้รู้จักการปลูกแคนตาลูปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความหลงใหลมากขึ้นเท่านั้น หลังจากได้ปลูกและทำการจำหน่าย ฉันได้มีโอกาสร่วมมือกับระบบซูเปอร์มาร์เก็ต แบ๊กฮว้าแซง แล้วพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้าจะปลูกแคนตาลูปให้มีประสิทธิภาพสูง ตัวเองต้องมีความระมัดระวังและใส่ใจอย่างมาก ตั้งแต่วิธีการเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย หรือการใช้ยา รวมไปถึงผู้ที่ดูแลสวน ก็ต้องให้ความสำคัญต่อการเลือกเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า การผสมเกสร และการคัดเลือกผลไม้”
ปัจจุบัน สหกรณ์การค้าและบริการเกษตรปลอดสารพิษ หมีฟอง ของคุณ เลถิกิมจี ได้จัดจำหน่ายแคนตาลูปมากถึง 60-100 ตันต่อเดือน โดยยอดขายของสหกรณ์ฯ เมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่กว่า 1,090 ตันเสร้างรายได้ราว 2 หมื่นล้านเวียดนามด่อง หรือกว่า 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของสหกรณ์การค้าและบริการเกษตรปลอดสารพิษ หมีฟอง ได้สร้างชีวิตความเป็นอยู่อย่างมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชาวเกษตรกร พร้อมยังมีส่วนช่วยต่อกิจกรรมสังคมสงเคราะห์และการสร้างสรรค์ท้องถิ่นอีกด้วย นาย หวอวันเหลิบ หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาชนบท สำนักงานเกษตรและการพัฒนาชนบท จังหวัดเตี่ยนยาง เผยว่า คุณ เลถิกิมจี เป็นผู้บริหารสหกรณ์ที่มีความสามารถ มีกลยุทธ์ในการผลิตและประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยผลิตภัณฑ์แคนตาลูปของสหกรณ์ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน OCOP หรือหนึ่งท้องถิ่นหนึ่งผลิตภัณฑ์ พร้อมแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่งของท้องถิ่น
“การดำเนินงานของสหกรณ์ถือว่าดีมากๆ โดยเฉพาะในการปลูกแคนตาลูป รวมถึงพืชผักผลไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภค ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางสหกรณ์ได้จัดส่งแคนตาลูปจำนวน 37,000 ลูก มูลค่าหลายหมื่นล้านด่อง ไปยังนครโฮจิมินห์ ส่วนทางการปกครองท้องถิ่นก็กำลังพิจารณาอนุมัติและให้การสนับสนุนสหกรณ์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างโรงงาน”
ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ ได้จัดจำหน่ายแคนตาลูปมากถึง 60-100 ตันต่อเดือน |
สำหรับนาง เลถิกิมจี สตรีวัย 37 ปี ที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตและประกอบธุรกิจ อีกทั้งมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปลูกแคนตาลูปและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อสามารถรองรับตลาดทั่วประเทศ
“ในเวลาข้างหน้า ทางสหกรณ์ยังคงดำเนินงานตามแนวทางของกลุ่ม แบ๊กฮว๊าแซง เนื่องจากเป็นคู่ค้าที่มียอดสั่งซื้อสูงและมีแผนขยายตลาดไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ โดยพวกเราจะสร้างความเชื่อมโยงเพื่อสามารถขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก จนถึงปัจจุบัน พวกเราได้ขยายพื้นที่ปลูกกว่า 100 แห่งแล้ว แต่ยังมีหลายครัวเรือนของสหกรณ์ในบริเวณโดยรอบที่ยังไม่อยู่ในเครือข่าย พวกเราจะประสานงานและทำการรวบรวมเพื่อเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นกว่า 150 แห่ง”
ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ยังมีสหกรณ์การเกษตรหลายแห่งที่ประสบปัญหาต่างๆ ในการจัดจำหน่ายสินค้า แต่สำหรับสหกรณ์การค้าและบริการเกษตรปลอดสารพิษ หมีฟอง อำเภอเมืองหมีทอ จังหวัดเตี่ยนยาง ได้วางกลยุทธ์พร้อมแผนการผลิตและประกอบธุรกิจ ซึ่งสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยความสำเร็จดังกล่าวนั้นได้รับการสนับสนุนและส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้หญิงมากความสามารถอย่างนาง เลถิกิมจี ที่มีความหลงใหลในการปลูกแคนตาลูป./.