ตัวอย่างบ้านโบราณของชาวเผ่าหนุ่งที่มีอายุนับร้อยปี |
ในอำเภอซีมากาย จังหวัดลาวกาย กลุ่มชาติพันธุ์หนุ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองในท้องถิ่นโดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 13 ของประชากรในอำเภอ ตั้งชุมชนอาศัยอยู่ในเขต หน่านซ้าน (Nàn Sán) บ๋านเม้ (Bản Mế) ซีมากาย( Si Ma Cai) และ กวานโห๋เถิน(Quan Hồ Thẩn) ระยะทางจากใจกลางอำเภอเมืองซีมากายไปถึงเขต หน่านซ้าน ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร บ้านแบบโบราณของชนเผ่าหนุ่งที่ตำบลหน่านซ้าน นิยมออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยผนังดิน ฉิ่งเตื่อง โดยแม้จะสร้างขนาดใหญ่หรือเล็กบ้านทุกหลังจะต้องออกแบบตามรูปทรงทั่วไปคือมีหน้าต่างเล็กๆ 3-4 บาน ประตูหลัก 1 บานและประตูหลัง 1 บาน ก่อนที่จะสร้างบ้าน ชาวบ้านจะเลือกทำเลที่สะดวกต่อการผลิตและการดำรงชีวิต นาย แถ่น ซวน เหวิน ชาวบ้านโด๋ย2 เผยว่า “ตามประเพณีเมื่อต้องการสร้างบ้านใหม่อันดับแรกคือการเลือกทำเลที่ตั้งของบ้านโดยเฉพาะการเปิดประตูบ้านจะหันไปทางไหนที่เหมาะสมตามอายุของเจ้าของบ้าน ก่อนจะเริ่มลงมือก็ต้องเลือกวันเวลาที่เป็นมงคล วัดขนาดสี่เหลี่ยมของพื้นบ้านแล้วเมื่อถึงเวลาก็เริ่มวางแม่พิมพ์อิฐสร้างกำแพงแล้ววางไก่หนึ่งตัวกับเนื้อหมูหนึ่งชิ้น ต่อจากนั้นก็สวดมนต์ขอพรจากเจ้าที่เจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ปกป้องคุ้มครองให้คนในบ้านปลอดภัยไร้โรคภัย บ้านใหม่มั่นคง ครอบครัวมีเงินมีทอง ชีวิตมีความสุข”
หลังจากที่เจ้าของบ้านหรือผู้ดำเนินพิธีเซ่นไหว้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ก็จะนำไก่ไปลวกสุกแล้วนำกลับมาทำพิธีเซ่นไหว้ต่อไปพร้อมข้าวสวย 3 ถ้วย เหล้า 3 แก้ว กระดาษเงินทองและธูปเทียน หลังจากเสร็จพิธีก็จะมีการดูตีนไก่เพื่อตัดสินว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หรือไม่ สำหรับการสร้างฉิ่งเตื่องหรือการสร้างผนังดินจะต้องใช้แม่พิมพ์ที่ประกอบด้วยแผ่นไม้ 4 แผ่น โดย 2 แผ่น ยาวประมาณ1- 2 เมตร แผ่นสั้น 2 แผ่น ประมาณครึ่งเมตร แม่พิมพ์อิฐดินนี้มักจะสูง 50 ซม. และหนา 30 ซม. เพื่อให้ผนังเรียบไม่มีรอยร้าวหรือหยาบต้องใช้แผ่นไม้ทุบผนัง เมื่อสร้างผนังบ้านเสร็จก็ถึงขั้นตอนวางเสาโครง โดยบ้านทั่วไปผนังบ้านต้องสูง 3.5-3.8 เมตร “บ้านทั่วไปมักมีเสาเรียง 4 แถว แต่ละแถวมี 4 เสาใหญ่ ในวันตั้งเสาก็ต้องจัดพิธีเซ่นไหว้ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ช่างไม้ใช้ไม้เคาะเสาแล้วเคาะพื้น ต่อจากนั้นคนที่มาช่วยก็ทำการตั้งเสาบ้านและติดตั้งสิ่งต่างๆ ส่วนฝ่ายหญิงต้องหาผ้าสีแดง ต้นไม้ที่ย้อมสีแดงด้วยมาวางบนหลังคา ต้องเอาไก่หนึ่งตัว ขนม 12 ชิ้น เหล้าหนึ่งลิตร ไปทำพิธีเซ่นไหว้ครั้งที่สอง ถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะบนหลังคาจะติดเหรียญเงิน"
วันขึ้นบ้านใหม่ของชาวหนุ่งในชุมชนที่หน่านซ้านเป็นวันสำคัญ บ้านสร้างเสร็จแล้วไม่ว่าครอบครัวจะมีฐานะดีหรือไม่ ทุกคนก็จัดงานเลี้ยงเชิญญาติพี่น้องและผู้อาวุโสของชุมชนเพื่ออวยพรให้พบเจอแต่สิ่งดีๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่รอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีมาร่วมฉลองขึ้นบ้านใหม่ ร่วมสร้างความสนุกสนาน และขอให้ผู้ใหญ่ร่วมแสดงความยินดี อวยพรให้เจ้าของบ้านมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข มีโชคลาภ มีอายุยืนยาว นายหว่างวันเทือง ผู้บริหารตำบลหน่านซ้านกล่าวว่า“ตามประเพณีเดิมนั้นเมื่อบ้านใหม่เสร็จแล้วคนที่ได้รับเชิญมาร่วมฉลองบ้านใหม่มักจะนำกระบอกข้าว หรือนำเงินมาร่วมแสดงความสามัคคีกับคนในหมู่บ้านและเมื่อฉลองขึ้นบ้านใหม่ก็จะมีการร้องเพลงโต้ตอบกันเพื่อแสดงความยินดีและอวยพรให้แก่เจ้าของบ้าน”
บ้านแบบดั้งเดิมของชาวเผ่าหนุ่งในชุมชนหน่านซ้านเป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สะท้อนความงามและคุณค่าของชีวิตทั้งด้านวัตถุและจิตใจ เพราะบ้านไม่เพียงแต่เป็นสถานที่เพื่อพำนักอาศัยเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ซึ้งขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมมากมายที่ผูกพันกับชีวิตของชาวเผ่าหนุ่งทุกคนตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่หลับตาลงเพื่อไปสู่สรวงสวรรค์และไปพบบรรพบุรุษ./.