สถาปัตยกรรมบ้านเรือนของชาวเผ่า M'nông

Giàng Seo Pùa-Lê Phương
Chia sẻ
(VOVWORLD) -    จังหวัดดั๊กนง (ĐắkNông) เป็นท้องถิ่นที่มีการผสมผสานอย่างลงตัวของวัฒนธรรมพื้นเมืองของหลายชนกลุ่มน้อยในเขตเตยเงวียน รวมทั้งชนเผ่า เมอนง  (M’Nông) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามชนเผ่าพื้นเมืองที่ตั้งหลักพำนักยาวนานที่สุดและยังคงอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่นของตนอย่างสมบูรณ์ผ่านการจัดงานประเพณีวัฒนธรรมและเทศกาลต่างๆ
สถาปัตยกรรมบ้านเรือนของชาวเผ่า M'nông - ảnh 1บ้านกระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าไม่มีใต้ถุนแต่จัดเป็นแนวยาวอย่างน้อย 30เมตร บางหลังสร้างยาวถึงร้อยเมตรจึงเรียกกันว่าบ้านยาว 
 
 

ชนเผ่าเมอนงตั้งหลักอาศัยตามชุมชนที่เรียกว่า "บอน" แต่ละบอนมีมากกว่า10ครอบครัวที่เป็นเครือญาติกันอาศัย โดยเมื่อก่อนจะสร้างบ้านแบบยกพื้นหรือบ้านกระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าไม่มีใต้ถุนแต่จัดเป็นแนวยาวอย่างน้อย 30เมตร บางหลังสร้างยาวถึงร้อยเมตรจึงเรียกกันว่าบ้านยาว หลังคาของบ้านมักมุงด้วยหญ้าคา โครงบ้านสร้างด้วยต้นไผ่และไม้ สำหรับทำเลที่เลือกสร้างบ้านจะเป็นพื้นที่ราบอยู่ระหว่างหุบเขาและติดแม่น้ำลำธาร  ลักษณะของการสร้างบ้านยาวในชุมชนเผ่าเมอนงคือเมื่อในครอบครัวมีคนแต่งงานก็จะต่อเพิ่มอีกหลายห้องเชื่อมกับบ้านหลังใหญ่สำหรับครอบครัวใหม่ โดยบ้านแต่ละหลังจะมีอย่างน้อย5-10ครอบครัวอาศัยร่วมกันหรือบางทีจะมีมากกว่านี้ ดังนั้น ถ้าสังเกตุเห็นก็จะมีบ้านที่สร้างยาวเป็นร้อยเมตร เพราะแต่ละครอบครัวจะมีส่วนเก็บของ ส่วนครัวและห้องนอนของตัวเอง

ตามความสำนึกของชุมชนเผ่าเมอนง การสร้างบ้านยาวก็เกิดประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะได้อยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าและสามารถช่วยเหลือกันยามลำบาก ซึ่งครอบครัวแรกที่สร้างบ้านจะอยู่ตรงกลางส่วนครอบครัวที่แต่งงานใหม่จะค่อยๆขยายบ้านไปสองข้าง นาย อีโฟต จากหมู่บ้าน ซาปา ตำบลถวนอาน อำเภอ ดั๊กมิล จังหวัดดั๊กนง เผยว่า "บ้านยาวอย่างน้อยต้องมีประตูสองด้านหรือไม่ก็มี3ช่อง แต่ส่วนใหญ่เรามักจะสร้างประตูไว้3ช่อง โดยประตูหลักเป็นทางเข้าออกและรับแขก ประตูข้างซ้ายใช้เข้าออกเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงและไปตักน้ำกลับมาหุงหาอาหารเพราะอยู่ใกล้ส่วนครัว ส่วนประตูช่องที่3เป็นทางออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้านในชุมชน"

สถาปัตยกรรมบ้านเรือนของชาวเผ่า M'nông - ảnh 2เตาไฟเป็นที่สำหรับผู้ชายในบ้านและรับแข็ก

บ้านของชาวเมอนงไม่เพียงแต่เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สะท้อนวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อจึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง โดยชาวเมอนงและชาวท้องถิ่นทั่วไปในที่ราบสูงเตยเงวียนมักสร้างบ้านตามแนวเหนือ-ใต้เพื่อรับลมและหลีกเลี่ยงแสงแดดที่ร้อนจัด ตัวบ้านสร้างตามแบบหลังคาสี่ส่วน ประตูเข้าบ้านเปิดที่ระเบียงด้านซ้ายหน้าบ้านซึ่งทำให้รู้สึกมีความอบอุ่น  พื้นที่ภายในบ้านเรียงตามลำดับคือ ชั้นลอยเก็บข้าวของและไม่มีการแบ่งกั้นยาวตั้งแต่หัวบ้านถึงท้ายบ้าน ด้านล่างเป็นส่วนครัว สองข้างเป็นห้องนอนและมีการแบ่งกั้นแยกพื้นที่ของแต่ละครอบครัว ข้าวสารของแต่ละครัวเรือนวางเก็บอยู่ส่วนท้ายบ้าน มีบันไดขึ้นลง สองข้างตรงหัวบันไดบนชั้นเก็บของวางถังใหญ่สองใบสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวและเก็บข้าวสำรองไว้ใช้เมื่อจำเป็น  ตรงทางเข้ามีเตาไฟสำหรับผู้ชายและแขก เตาที่วางใต้ชั้นลอยไว้สำหรับผู้หญิงในบ้านหุงข้าวทำอาหาร สำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก็ถูกจัดวางในบ้านตามระเบียบเช่นกัน อย่างชุดฆ้องแขวนบนผนังเหนือไหเหล้าขนาดใหญ่วางเรียงแถวบนพื้น กระเป๋าส่วนตัวแขวนอยู่บนเสาบ้าน ส่วนสิ่งของสมบัติที่มีค่าของครอบครัวมักจะเก็บไว้ในตะกร้าที่มีฝาปิดเเขวนไว้อยู่เหนือเตียงนอนของปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ คุณ เจิ่นถิเวิน รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์จังหวัด ดั๊กนง กล่าวว่าเมื่อก่อนนี้ การที่จะประเมินฐานะครอบครัวว่ายากดีมีจนแค่ไหนก็ดูจากจำนวนไหที่วางในบ้าน  "ไหของเผ่าเมอนงต่างก็มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ หรือเทศกาลและพิธีกรรมบางอย่าง และส่วนใหญ่มาจากการแลกเปลี่ยน ซื้อ ขาย มิใช่ไหที่ผลิตโดยชาวท้องถิ่น โดยชาวบ้านจะแลกซื้อด้วยช้าง ควาย และหมู ก็แล้วแต่ประเภทของไห "

สถาปัตยกรรมบ้านเรือนของชาวเมอนงนั้นได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสภาพธรรมชาติ แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดพวกเขาจึงได้สร้างที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาของสังคม ปัจจุบันนี้ จากการมีฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลายครอบครัวจึงก่อสร้างบ้านใหม่ที่ก่ออิฐหลังคาเรียบ แต่ทุกครอบครัวก็ยังคงรักษาบรรยากาศแห่งวิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรักไคร่กันและคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เมอนงก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไป./.

คำติชม