งานแสดงความกตัญญูของชนเผ่า​Raglai ในจังหวัดนิงห์ถวน

Hải Phong - Ngọc Anh
Chia sẻ
(VOVWORLD) -ชนเผ่ารักลาย (Raglai)ในอำเภอ บ๊ากอ๊าย จังหวัดนิงห์ถวน ยังคงอนุรักษ์และปฏิบัติประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างหนึ่งที่สะท้อนปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งคือ งานแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องจดจำเพื่อปฏิบัติตอนที่พ่อแม่ของตนยังมีชีวิตอยู่

งานแสดงความกตัญญูของชนเผ่า​Raglai ในจังหวัดนิงห์ถวน - ảnh 1เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆที่ต้องเตรียม(VNA)
 
 

งานแสดงความกตัญญูของชุมชนเผ่ารักลายมักจะจัดขึ้นตอนลูกๆโตเป็นผู้ใหญ่และมีครอบครัวของตัวเองแล้ว โดยตามประเพณีเมื่อคู่สามีภรรยาแต่งงานใหม่จะต้องจัดงานแสดงความกตัญญูเพื่อขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเลี้ยงดูจนเติบใหญ่มีครอบครัวของตัวเองและโดยทั่วไปแล้วลูกคนไหนที่แต่งงานก่อนก็เป็นผู้จัดพิธีนี้ก่อน นี่มิใช่เป็นเพียงงานของครอบครัวเท่านั้น หากยังเป็นกิจกรรมของทั้งชุมชน สำหรับกำหนดการจัดงานก็ขึ้นอยู่กับสถานะครอบครัวโดยส่วนใหญ่จะจัดขึ้นหลังการแต่งงานตั้งแต่ 3-5 ปี นาย กา เตอ หว่า อาศัยในตำบลบิ่งเฟือก อำเภอบ๊ากอ๊ายเผยว่า "พ่อแม่มีบุญคุณที่เลี้ยงดูลูก เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ แต่งงานและมีเงื่อนไขเพียงพอก็จะทำพิธีนี้ให้พ่อแม่ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณและขอบคุณพ่อแม่"

สำหรับของเซ่นไหว้โดยทั่วไปที่ใช้ในงานก็จะต้องมีไก่ 2 ตัว หมู 1 ตัว เหล้า 1 ไห เป็นต้น ซึ่งมีไก่ลวกและเนื้อหมูจะทำเป็นเมนูต่างๆเช่น หมูย่างปล้องไผ่ หมูสับ หมูบด ใส้กรอกเลือดหมู เป็นต้น ลูกๆจะเตรียมสิ่งของต่างๆให้แก่พ่อแม่สำหรับใช้ในงานโดยเตรียมชุดเสื้อผ้า สร้อยที่เป็นสัญลักษณ์ของสายสะดือทารก ผ้า 1 ผืน ถ้วย 1 ใบและแหวน 1 วง หลังจากเตรียมของเสร็จผู้ดำเนินพิธีจะเริ่มงานด้วยการสวดขอพรกล่าวถึงบุญคุณของพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเจ้าของบ้าน นายปินังจั๊ก จากตำบลเฟือกหว่า อำเภอบ๊ากอ๊ายเผยว่า"บ้านไหนมีลูก 4 คนก็ต้องจัดพิธีแสดงความกตัญญู 4 รอบและแต่ละคนจะจัดงานนี้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ถ้าครอบครัวไหนยังไม่พร้อมก็ให้เวลาเตรียมงาน 6-7ปีก็ได้ ถ้ามีฐานะดีสามารถจัดงานได้แล้วก็ให้เลือกเวลาจัดหลังจากแต่งงานสัก3 - 5ปี แต่ต้องพยายามจัดตอนที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ถึงจะมีความสุขสมบูรณ์ที่สุด"

งานแสดงความกตัญญูของชนเผ่า​Raglai ในจังหวัดนิงห์ถวน - ảnh 2งานรื่นเริงหลังพิธีเซ่นไหว้(dangcongsan)

เป็นเวลานานแสนนานที่ชุมชนเผ่ารักลายได้สานต่อและปฏิบัติพิธีกรรมนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อให้พ่อแม่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและภูมิใจกับเพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง เพราะการจัดงานทุกครั้งจะต้องเชิญให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านเข้าร่วมแสดงความยินดีด้วย ในงานลูกๆจะมอบของขวัญเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพ่อแม่ของตนพร้อมทั้งทำอาหารพื้นเมืองเพื่อเชิญพ่อแม่รับประทานเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ "ครอบครัวไหนมีเงินทองร่ำรวยก็จัดงานใหญ่ และในงานพ่อแม่ก็ให้ของขวัญกลับไปแก่คู่สามีภรรยาลูกของตน เช่นครอบครัวผมเอง เมื่อลูกชายแต่งงานผมก็ให้วัวและควายเพื่อให้เขาพัฒนาสร้างฐานะ ส่วนทางครอบครัวของฝ่ายหญิงก็ให้ที่นาเพื่อทำการผลิต เป็นต้นซึ่ งทั้งสองฝ่ายต่างร่วมกันสนับสนุนให้ครอบครัวของลูกได้มีชีวิตใหม่ที่มั่นคง"

ในพิธีแสดงความกตัญญู ชาวบ้านมักจะขอให้บรรพบุรุษประทานพรและคอยปกป้องคุ้มครองครอบครัว ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ได้ผลดี หลังเสร็จพิธี ชาวบ้านและแขกรับเชิญจะร่วมสนุกสนานกับการแสดงหม่าลา ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชาวรักลาย  ร่วมร้องรำทำเพลงและอวยพรกันให้มีความสุข เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ งานแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ในชุมชนเผ่ารักลายเป็นประเพณีอันดีงามที่สะท้อนวิถีชีวิตวัฒนธรรมและจิตใจของชาวบ้านได้อย่างมีชีวิตชีวา เป็นการย้ำให้ลูกหลานต้องจดจำบุญคุณของผู้ให้กำเนิดและเป็นโอกาสที่ดีให้ครอบครัวของสองฝ่ายชายหญิงได้พบปะสังสรรค์กันเพื่อขยายความสัมพันธ์ระหว่างสองวงตระกูลให้สนิทชิดเชื้อ.

คำติชม