ครบ1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน: การเผชิญหน้าที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

Huyen
Chia sẻ
(VOVWORLD) - เมื่อเวลา 05.55 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปี 2022 สองวันหลังจากที่รัสเซียรับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่ประกาศแยกตัวจากยูเครน ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ก็ได้ประกาศเปิด “ยุทธนาการทางทหารพิเศษ” ในยูเครน โดยในตลอด 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นในเขต Donbass ทางภาคตะวันออกของยูเครน การปะทะนี้ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบต่อระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกอีกด้วย อีกทั้งก็ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะนำไปสู่ทางออก
ครบ1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน: การเผชิญหน้าที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด - ảnh 1ประธานาธิบดีรัสเซีย Vladimir Putin กับประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelensky (Reuters)

ในการกล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปี 2022 ก่อนเปิด “ยุทธนาการทางทหารพิเศษ” ในภาคตะวันออกของยูเครน เพื่อตอบรับข้อเสนอช่วยเหลือในการค้ำประกันด้านความมั่นคงจากผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์หรือ DPR และลูฮันสก์หรือ LPR ประธานาธิบดี ปูติน ได้ย้ำว่า ยุทธนาการทางทหารของรัสเซียเป็นการปกป้องตนเอง รัสเซียจะไม่ยึดครองยูเครน แต่จะทำการกวาดล้างลัทธิฟาสซิสต์” และทำให้ยูเครนเป็นพื้นที่ปลอดทหาร นับจากนั้นเป็นต้นมา การปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นการปะทะครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เริ่มขึ้นยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันและยังมีความผันผวนซับซ้อนมากขึ้น

ความเสียหายอย่างหนัก

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบันเกิดจากปัญหาที่สั่งสมมานาน ตั้งแต่การทำรัฐประหาร Maidan เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 การผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นดินแดนของมอสโคว์ ซึ่งนำไปสู่การประกาศแยกตัวของแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ไปจนถึงการที่ยูเครนสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกหรือ NATO สาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายทวีไปถึง “จุดสูงสุด”

ในปีที่ผ่านมา นอกจากเขต Donbass รัสเซียยังได้ขยายเป้าหมายของยุทธนาการทางทหารพิเศษในยูเครนไปยังภาคใต้และภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงกรุงเคียฟ การปะทะได้สร้างความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียและยูเครนเท่านั้น หากยังรวมถึงเศรษฐกิจโลกอีกด้วย โดยโลกต้องเผชิญกับวิกฤตอาหารอย่างรุนแรงเมื่อแหล่งจัดสรรจากข้าวสาลีและธัญพืชขนาดใหญ่ของทั้งสองประเทศลดลง การหยุดชะงักของการจัดสรรเชื้อเพลิงที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร และการตอบโต้กันระหว่างมอสโคว์กับฝ่ายตะวันตกได้ทำให้ยุโรปต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างมากในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ทำให้ราคาพลังงานโลกและอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความเสี่ยงของความไม่สงบในสังคม การปะทะนี้ยังก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  รายงานสถิติที่ประกาศโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือ OHCHR เมื่อเดือนมกราคมปี 2023 ได้แสดงให้เห็นว่า ได้มีผู้เสียชีวิตกว่า 18,000 คน มีผู้ที่ต้องอพยพไปยังประเทศในยุโรป  7.9 ล้านคนและอีก 21.8 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

การเคลื่อนไหวที่อันตราย

ในขณะที่การปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่สามารถหาทางออกได้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2023 การเคลื่อนไหวใหม่ๆ ก็ยิ่งทำให้การหาทางออกให้แก่การปะทะในตลอด 1 ปีที่ผ่านมายิ่งอยู่ไกลเอื้อมขึ้นไปอีก

โดยประเทศตะวันตกได้เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน การประชุมของสหภาพยุโรปหรือ EU และ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATO ต่างให้คำมั่นที่จะเพิ่มการจัดสรรอาวุธและยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการมอบรถถังให้แก่ยูเครน สหภาพยุโรปยังได้หารือเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรชุดที่ 10 ต่อมอสโคว์ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัสเซียได้ประกาศว่า อาวุธของประเทศตะวันตกในยูเครนเป็นเป้าหมายในการโจมตี ในการแถลงล่าสุด ประธานาธิบดียูเครน Zelensky ได้ยืนยันว่า เป้าหมายของทางการเคียฟไม่ใช่แค่เพื่อป้องกันการโจมตีครั้งใหม่จากรัสเซียเท่านั้น หากยังรวมถึงการยึดคืนพื้นที่ทั้งหมดที่ถูกมอสโคว์ควบคุมอยู่ รวมทั้งแหลมไครเมีย  ซึ่งเพื่อปฏิบัติเรื่องนี้ ยูเครนได้เรียกร้องให้พันธมิตรตะวันตกให้ความช่วยเหลือมากขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อทำให้ทางการเคียฟได้เปรียบในสนามรบ

ประตูสู่สันติภาพยังคงปิดอยู่

“การประณาม” “การเรียกร้อง” และ “การเร่งรัด” เป็นคำที่ปรากฏบ่อยครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายต่างๆ ต้องการให้รัสเซียและยูเครนยุติสงคราม ซึ่งก็ยังคงไม่ประสบผล และการคว่ำบาตรของฝ่ายตะวันตกต่อรัสเซียก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขสงครามนี้ได้ ในปีที่ผ่านมา สหรัฐ สหภาพยุโรปและพันธมิตรได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียประมาณ 11,000 ครั้ง โดยเน้นถึง 5 ด้านหลัก ได้แก่ การเงิน การค้า เทคโนโลยี พลังงานและชนชั้นนำของรัสเซีย ซึ่งทำให้รัสเซียเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุดในโลก

จากการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน บรรดานักวิเคราะห์ได้แสดงความเห็นว่า ข้อตกลงทางการทูตเพื่อยุติการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครนยากที่จะบรรลุได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งรัสเซียและยูเครนกำลังมีจุดยืนที่แตกต่างกันในหลายประเด็น สหรัฐและบางประเทศในยุโรปแม้ว่าจะมีสัญญาณของการพยายามส่งเสริมการเจรจา แต่การส่งอาวุธไปยังยูเครนอย่างต่อเนื่องและการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มงวดมากขึ้นได้ทำให้การแก้ปัญหาอย่างสันติเผชิญทางตัน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ ประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ Csaba Kőrösi ได้เตือนว่า ความเสี่ยงที่การปะทะจะบานปลายยังคงมีอยู่และโอกาสในการสร้างสันติภาพกำลังลดน้อยลง การส่งเสริมการเจรจาเพื่อเปิดประตูสู่สันติภาพและยุติการปะทะเป็นสิ่งที่ต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆในปัจจุบัน.

คำติชม