( VOVworld )- ผ่านกาลเวลามาหลายพันปี เทศกาลแห่ปลาโองหรือปลาวาฬได้กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งความเลื่อมใสศรัทธาที่ขาดไม่ได้ของคนเกิ่นเหย่อ นครโฮจิมินห์ เทศกาลแห่ปลาโองถูกจัดขึ้นตรงกับวันสารทไหว้พระจันทร์ทุกปีโดยชาวประมงอำเภอเกาะเกิ่นเหย่อในบรรยากาศที่ครึกครื้น ทุกบ้านทำความสะอาดหิ้งบูชาและจัดเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ส่วนเจ้าของเรือตบแต่งเรือด้วยธงทิวสีสันสดสวย คนเกิ่นเหย่อที่ต้องทำงานในต่างถิ่นหรือยังยุ่งกับงานก็ต้องหาเวลากลับมาร่วมงานเทศกาลแห่งปลาโองให้ได้ดังคำกลอนที่ชาวบ้านมักกล่อมจนติดปากว่า ป่าเขาทะเลเกิ่นเหย่อกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เชิญกลับมาเกิ่นเหย่อร่วมเทศกาลแห่ปลาโองวันสารทไหว้พระจันทร์
ขบวนเรือแห่ปลาโองในทะเลเกิ่นเหย่อ
พิธีแห่ปลาโองจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๖ ค่ำเดือน ๘ ณ ลังโองถุ่ยเตื๊องหรือศาลเจ้าบูชาปลาโอง ตำบลเกิ่นแถก อำเภอเกิ่นเหย่อ ตามประเพณีของชาวประมง เทศกาลแห่ปลาโองกล่าวถึงส่วนอุทิศของปลาวาฬที่ได้ช่วยชีวิตชาวประมงที่ประสบพายุและได้รับการเชิดชูเป็นโองหรือพระท่าน การบูชาปลาโองหรือปลาวาฬแสดงให้เห็นความสำนึกในบุญคุณของชาวประมงต่อปลาโอง อีกทั้งอธิฐานให้ท่านคุ้มครองยามออกทะเลพร้อมจับปลาได้ผลดี ดังนั้นเทศกาลแห่ปลาโองเป็นเทศกาลสำคัญในหนึ่งปีของชาวประมง นายโงวันหยี่ ผู้ดูแลศาลเจ้าบูชาปลาโอง เปิดเผยว่า “ เทศกาลแห่ปลาโองมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหงวียนราว ๓๐๐ ปีและผูกพันกับชีวิตทำประมงของชาวบ้าน งานเทศกาลจึงได้ฝังลึกในจิตใจของชาวประมงที่นี่ตลอดมาและตลอดไป ”
จุดเหมือนกันของเทศกาลแห่งปลาโองในเกิ่นเหย่อกับประเพณีของชาวประมงทั่วไปคือ การบูชาปลาโอง แต่ต่างกันตรงที่ เทศกาลแห่งปลาโองเกิ่นเหย่อจัดขึ้นตรงกับวันสารทไหว้พระจันทร์ ดังนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับปลาโองจึงเป็นนิยายปรัมปราที่มาจากประวัติความเป็นมาและพัฒนาป่าชายเลนเกิ่นเหย่อ ดร.หวิ่งก๊วกทั้ง อาจารย์คณะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นครโฮจิมินห์เปิดเผยว่า
“ พิธีกรรมต่างๆในงานเทศกาลแห่งปลาโองไม่ว่าจะเป็นบทไว้อาลัยและและพิธีเซยเจิ่วด่ายโบ่ยซึ่งเป็นพิธิเปิดงานและการแสดงฉากการก่อเกิดโลกตามนิยายปรัมปราล้วนมาจากพิธีเซ่นไหว้ต่างๆของศาลเจ้า ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบุกเบิกและสร้างสรรค์นั้นผูกพันกับพิธีแห่ปลาโองในทะเลอันเป็นการย้ำเตือนคนเราให้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติและทะลตลอดจนส่วนร่วมของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ได้บุกเบิกเขตทะเลทางทิศใต้และพื้นที่ภาคใต้เพื่อสร้างสรรค์ผืนดินภาตใต้ที่มีความเจริญและสวยงามซึ่งมีนครโฮจิมินห์รวมอยู่ด้วย”
ขบวนแห่ปลาโองไปยังศาลเจ้าบูชาปลาโอง
หลายปีที่ผ่านมา หน่วยงงานวัฒนธรรมของนครโฮจิมินห์ได้พัฒนาเทศกาลแห่ปลาโองเกิ่นเหย่อตามมาตรฐานของเทศกาลระดับชาติ โดยได้เลือกเอาและอนุรักษ์สิ่งที่ดีงามในพิธีกรรม ส่วนกิจกรรมทางวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น โดยนอกจากการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของเขตทะเลเกิ่นเหย่อแล้ว ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬาแห่งยุคสมัย นายฝ่ามเฮี้ยว รองหัวหน้าคณะกรรมการจัดงานเปิดเผยว่า “ พวกเราเรียกร้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานเทศกาลพร้อมกับรัฐ โดยบางกิจกรรมมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงกลายเป็นเทศกาลของชาวประมงเกิ่นเหย่อ ”
เทศกาลแห่ปลาโองหรือปลาวาฬเกิ่นเหย่อไม่เพียงแต่อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวประมงเขตทะเลเท่านั้น หากยังเป็นโอกาสแนะนำวัฒนธรรมพื้นบ้าน ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของที่นี่อีกด้วย
การละเล่นพื้นบ้านภายในงานเทศกาล
เทศกาลแห่ปลาโองเกิ่นเหย่อที่เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมระดับชาติได้กลายเป็นกิจกรรมวัฒนธรรมที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เทศกาลแห่ปลาโองผูกพันกับประเพณีบูชาปลาโองของชาวประมงเกิ่นเหย่อ ซึ่งเป็นงานเทศกาลแห่งสายน้ำที่ใหญ่ที่สุดของชาวประมง เทศกาลยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีกมากมายเช่น เทศกาลเซ่นไหว้ปลาวาฬ พิธีบวงสรวงปลาโอง เทศกาลแห่ปลาโองถุ่ยเตื๊อง แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันแต่ล้วนมาจากคติว่า ปลาโองหรือปลาวาฬเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในทะเลที่ช่วยชีวิตชาวประมง ./.