การแสดงเชิดสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ตื๊อลิงห์ (photo baodanviet)
|
ท่ามกลางเสียงบรรเลงกลองที่เร่งเร้าคึกคัก บรรดาผู้สูงอายุในคณะแสดงเชิดสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตื๊อลิงห์ของหมู่บ้านดุกเค ตำบลเฮืองเซิน อำเภอหมีดึ๊ก กรุงฮานอย ในชุดสีเหลือง ผ้าคาดเอวและผ้าโพกหัวสีแดง กำลังแสดงเชิดสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัวอย่างสวยงาม ช่วยให้สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นหุ่นเรียบง่ายเหล่านี้กลายเป็นสัตว์ที่มีชีวิตชีวา
ที่ลานขนาดใหญ่ ทีมเชิดมังกรกำลังควบคุมหุ่นมังกรมีลำตัวสีเหลือง ครีบสีแดง มีความยาวกว่า 35 เมตรเพื่อเต้นตามจังหวะการเคลื่อนไหวแบบสายน้ำที่คดเคี้ยวไปมาตามคนนำขบวนที่ถือไม้ไข่มุก ส่วนผู้เชิดกิเลนทำท่าส่ายหัวไปมา ตากระพริบตามหาคนถือไม้ ตัวเต่าจะถูกเชิดช้าๆโดยศรีษะผลุบๆโผล่ๆ ส่วนตัวหงส์แสดงท่าเต้นที่โชว์ความสวยงามของตนด้วยขนหลากหลายสีสันตามเสียงดนตรี
สำหรับความหมายของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัวดังกล่าว ศาสตรจารย์ประวัติศาสตร์เลวันลานเผยว่า “สัตว์นำโชค 4 ตัวตามความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชาติเวียดนามคือ มังกร กิเลน เต่าและหงส์ ซึ่งมังกรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ราชวงศ์ กษัตริย์ รวมทั้งฝนและลม กิเลนเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่เข้มแข็ง เต่าเป็นสัตว์ที่นำความผาสุกและประโยชน์มาให้แก่มนุษย์ ส่วนหงส์ก็เป็นสัญลักษณ์ของเทพธิดาที่อยู่เบื้องบนรวมทั้งพระราชินีที่งดงามเคียงข้างกษัตริย์”
จากความเลื่อมใสดังกล่าว ชาวเวียดนามได้เชิดสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัวนี้ให้เป็นท่ารำ “ตื๊อลิงห์” โดยทำการแสดงในโอกาสต่างๆ เช่น ตรุษเต๊ตประเพณี เทศกาลต่างๆและเมื่อการเก็บเกี่ยวได้ผลดีเพื่อสร้างความรื่นเริงในหมู่ประชาชน สะท้อนความสำนึกในบุญคุณของเทพเจ้าทั้งหลายและขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนมีสันติสุขและประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง
ในการแสดงตื๊อลิงห์ นักแสดงไม่เพียงแต่ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงและคล่องแคล่วเท่านั้น หากต้องมีความรู้ในจังหวะการเคลื่อนไหวอีกด้วย อย่างผู้ที่เชิดส่วนหัวของมังกรต้องรำอย่างอ่อนช้อย แต่สำหรับการเชิดกิเลนต้องแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ผู้ถือไม้ไข่มุกนำขบวนต้องมีความว่องไว ส่วนคนอื่นในกลุ่มเช่น คนตีกลองและฆ้องก็มีบทบาทสำคัญในการนำจังหวะของการแสดงเช่นกัน ศ.เลวันลานให้ข้อสังเกตว่า “การแสดงตื๊อลิงห์มักจะจัดในช่วงตรุษเต๊ตประเพณีเพราะถือเป็นช่วงเวลาที่มีฤกษ์ดี เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ประเพณีที่ชาวบ้านจะทำการเซ่นไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งได้สะท้อนความคาดหวังเกี่ยวกับความแข็งแกร่ง ความอิ่มหนำผาสุกและความปรารถนาที่จะได้รับการดูแลจากเทพเจ้า”
ความหมายที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรมในการแสดงตื๊อลิงห์คือการขอพรให้ประเทศมีสันติภาพ ประชาชนมีความอิ่มหนำผาสุก ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล โชคลาภ เงินทองและอายุยืนนานมาให้แก่ทุกคน ดังนั้น ในการแสดงตื๊อลิงห์จะทำการแสดงเริ่มจากมังกร – เต่า – หงส์ – กิเลน และสุดท้ายคือการเชิดรวมสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัว ท่ารำแต่ละท่ามีความหมายแตกต่างกัน โดยเฉพาะการแสดงในงานเปิดเทศกาลวัดเฮืองจะมีความหมายว่า พาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ตัวนี้เข้าวัด โดยเฉพาะมังกรและกิเลน ซึ่งเคยเป็นสัตว์ที่มีนิสัยก้าวร้าวได้กลายเป็นสัตว์ที่รักษาศีลจนกลายเป็นเทพ ทุกสิ่งทุกอย่างในการแสดงต่างพาผู้ชมเข้าถึงการรักษาศีล ดังนั้น ผู้ที่ถือไม้ไขมุกเต้นนำข้างหน้าต้องได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบเพราะมีบทบาทสำคัญที่สุดในคณะ คุณฝามวันฮึง ผู้ที่เชิดตื๊อลิงห์เกือบ 30 ปีในตำบลเฮืองเซินเผยว่า “เมื่อเข้าวัด ศาลเจ้าและวิหาร สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ตัวนี้ต้องนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า แม้แต่กิเลนที่เป็นสัตว์ดุร้ายก็ต้องหมอบลงต่อหน้าพระพุทธเจ้า ที่วัดเฮือง การแสดงกิเลนต้องมีผู้ถือไม้ที่เป็นขุนนางฝ่ายบู๊เพื่อควบคุมกิเลน”
ภาพขบวนเชิดสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัวที่มีหลากหลายสีสันเดินไปรอบหมู่บ้านท่ามกลางเสียงกลองและเสียงฆ้องเพื่อต้อนรับตรุษเต๊ดประเพณีถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเขตชนบทต่างๆในเวียดนาม.