งานเย็บปัก อาชีพพื้นเมืองของตำบลแทงห่า จังหวัดห่านาม

Bảo Lê - Trọng Đại - Ngọc Anh
Chia sẻ
(VOVWORLD) - งานเย็บปักอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านในตำบลแทงห่า อำเภอแทงเลียม จังหวัดห่านาม มีชื่อเสียงในภาคเหนือ อาชีพเย็บปักของที่นี่มีมาตั้งแต่ปี 1893 ซึ่งพัฒนามายาวนานจนถึงปัจจุบัน

งานเย็บปัก อาชีพพื้นเมืองของตำบลแทงห่า จังหวัดห่านาม - ảnh 1งานเย็บปัก อาชีพพื้นเมืองของตำบลแทงห่า จังหวัดห่านาม

ตามเอกสารของท้องถิ่น นาย เหงวียนดิ่งถาน เกิดเมื่อปี 1886 ในหมู่บ้านอานหว่า ตำบลแทงห่า เป็นผู้ที่ไปได้เรียนรู้และเผยแพร่อาชีพเย็บปักให้แก่ลูกหลานจนพัฒนาไปทั่วตำบลแทงห่า ชาวท้องถิ่นได้ยกย่องนาย เหงวียนดิ่งถาน เป็นผู้ให้กำเนิดอาชีพเย็บปักในหมู่บ้านอานหว่า ช่างศิลป์ หว่างหงอกเตวียน ในตำบลแทงห่า เผยว่า

“งานเย็บปักมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ และพัฒนาเจริญรุ่งเรืองในช่วงปี 1980 ชาวบ้านประกอบอาชีพพื้นเมืองของบรรพบุรุษเพื่อพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว รายได้ของชาวบ้านส่วนใหญ่มาจากอาชีพนี้ ชาวบ้านเน้นงานปักมือเป็นโดยผลิตภัณฑ์ได้รับการส่งออกไปยังหลายประเทศ”

งานเย็บปัก อาชีพพื้นเมืองของตำบลแทงห่า จังหวัดห่านาม - ảnh 2ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์เย็บปักแทงห่าค่อนข้างซับซ้อน

ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์เย็บปักแทงห่าค่อนข้างซับซ้อน โดยขั้นตอนแรกคือการร่างแบบ ต่อจากนั้นคือการผสมสีและพิมพ์สี การปัก การซัก การตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ และการจำหน่าย นอกจากเทคนิคการปักแบบดั้งเดิม อาชีพเย็บปักในปัจจุบันยังพัฒนาเทคนิคการปักที่ซับซ้อน เช่น การปักสองด้าน การปักด้านเดียวและการปักแรเงา นาย เหงวียนแหม่งเถื่อง นายกสมาคมหมู่บ้านศิลปาชีพทำผ้าปักเพื่อการส่งออกในตำบลแทงห่า เผยว่า

“เราใช้เทคนิคที่หลากหลายในการปัก เช่น สัตว์ ดอกไม้ ต้นไม้และคน ผลิตภัณฑ์ของตำบลแทงห่ามีทั้ง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้ารองและกระเป๋า”

ตั้งแต่ปี 1975 ถึงปี 1999 เป็นช่วงเวลาที่หมู่บ้านศิลปาชีพแห่งนี้พัฒนาเป็นอย่างมากโดยผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายได้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศและได้รับการส่งออกไปยังอดีตสหภาพโซเวียต ประเทศในยุโรปตะวันออก และอีกหลาย ๆ ประเทศต่าง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง หมู่บ้านเย็บปักถักร้อยแทงห่าได้พยายามหาช่องทางจำหน่ายเนื่องจากความต้องการในตลาดดั้งเดิมลดลงและตลาดต่างประเทศที่ต้องการมาตรฐานที่เข้มงวดในด้านคุณภาพและเวลา ทางการปกครองท้องถิ่นได้สนับสนุนการลงทุนอุปกรณ์ทอผ้าและเทคนิค และขั้นตอนการจัดตั้งสมาคมงานเย็บปักแทงห่าที่เชื่อมโยงกับครัวเรือนที่ผลิตผลิตภัณฑ์นี้ จนถึงขณะนี้ ผลิตภัณฑ์ผ้าปักบางรายการของหมู่บ้านฯได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ OCOP นาง เหงวียนถิเตวี๊ยน รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลแทงห่า เผยว่า

ท้องถิ่นให้ความสนใจถึงการอนุรักษ์และการพัฒนาอาชีพ นับตั้งแต่มีโครงการ OCOP ระดับชาติ ท้องถิ่นต่างๆ ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยจัดทำโครงการเพื่อลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ OCOP ในโครงการพัฒนาของจังหวัดห่านาม ท้องถิ่นได้เปิดแหล่งท่องเที่ยวผลิตภัณฑ์หมู่บ้านศิลปาชีพเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิม”

พร้อมกับการสนับสนุนของทางการปกครองท้องถิ่นแล้ว ครอบครัวที่ประกอบอาชีพนี้ได้ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงการออกแบบให้หลากหลายเพื่อตอบสนองคุณภาพและความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์งานเย็บปักมือได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของตำบลแทงห่า นาย ฝ่ามสีมิง บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์งานเย็บปักหว่างแองในตำบลแทงห่า เผยว่า

“ผลิตภัณฑ์งานเย็บปักมีคุณภาพ วัสดุและด้ายปักนำเข้าจากฝรั่งเศส ส่วนผ้านำเข้าจากอิตาลี การปักด้วยมือจะทำโดยช่างศิลป์ฝีมือดีเพื่อค้ำประกันคุณภาพและตอบสนองความต้องการของลูกค้า อีกทั้งการได้รับใบรับรองคุณภาพ ISO ระดับสากลก็ทำให้กระบวนการผลิตมีความเข้มงวดมากขึ้น การตรวจสอบสินค้าต้องค้ำประกันความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้า เราก็ต้องรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนใหม่หรือรับคืนสินค้า เมื่อลงทุนในด้านความรู้และเทคโนโลยี ราคาสินค้าและกำไรจะสูงขึ้น”

งานเย็บปัก อาชีพพื้นเมืองของตำบลแทงห่า จังหวัดห่านาม - ảnh 3นาย เหงวียนแหม่งเถื่อง นายกสมาคมหมู่บ้านศิลปาชีพทำผ้าปักเพื่อการส่งออกในตำบลแทงห่า 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากการปักด้วยมือแล้ว ชาวบ้านยังใช้จักรในการปักด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณของสินค้าให้มากขึ้น นาง ห่าถิเหียบ จากบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์งานเย็บปักอานเฟืองในตำบลแทงห่า เผยว่า

“เราปักด้วยจักรมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เนื่องจากความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันสูงขึ้น ทำให้ต้องเร่งผลิตจึงต้องปักด้วยจักร ทำให้ราคาถูกลงและมีคุณภาพสม่ำเสมอ เราจึงเปลี่ยนมาใช้จักรปักเพื่อเร่งการผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้า บริษัทมีจักรปักผ้า 10 เครื่อง รายได้ของแรงงานอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านด่ง/คน/เดือน”

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมปี 2021 กระทรวงวัฒนธรรม การกีฬาและการท่องเที่ยวได้รับรองอาชีพหัตถกรรมงานเย็บปักแทงห่าเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติ จนถึงขณะนี้ ผลิตภัณฑ์งานปักของตำบลแทงห่าได้รับการส่งออกไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์.

คำติชม