ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จุดเด่นของเศรษฐกิจเวียดนามใน 6 เดือนแรกของปี 2019 |
ใน 5 เดือนแรกของปี 2019 เงินลงทุนเอฟดีไอในเวียดนามได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 38 ส่วนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในช่วงนี้ มีข่าวการเปิดตัวโครงการที่ใช้เงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก อย่างเช่น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม คณะกรรมการประชาชนนครไฮฟอง ได้ร่วมมือกับบริษัท Minato Viet Nam จำกัดวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างศูนย์การค้าและคอนโดมีเนียม Minato ที่ใช้เงินทุนกว่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่จังหวัดกว๋างนาม ทางการจังหวัดฯ สามารถดึงดูดการลงทุนเอฟดีไอได้ 169 โครงการ รวมยอดเงินทุนกว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นท้องถิ่นนำหน้าของภาคกลางและเขตที่ราบสูงเตยเงวียนในการดึงดูดเงินทุนเอฟดีไอและอยู่อันดับที่ 13 จากจำนวนทั้งหมด 63 จังหวัดและนครที่มีโครงการเอฟดีไอมากที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะมีการปฏิรูปอย่างเข้มแข็งเกี่ยวกับนโยบายดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ นาย เจิ่นวันเติน รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดกว๋างนามเผยว่า “แนวทางของจังหวัดคือ ใช้มาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขอุปสรรคให้แก่สถานประกอบการ ในเร็วๆนี้ ทางจังหวัดจะเน้นตรวจสอบการปฏิรูประเบียบราชการและการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและประกอบธุรกิจของจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ให้แก่สถานประกอบการที่มาลงทุนและประกอบธุรกิจ”
นักลงทุนรายใหญ่ที่มาจากประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีและบรรดาประเทศยุโรปได้เปิดโอกาสให้เวียดนามมีโครงการที่มีคุณภาพสูงพร้อมกับอุตสาหกรรมแปรรูป การผลิต เทคโนโลยีขั้นสูงและสิ่งแวดล้อม จากการลงทุนใน 42 โครงการ ยอดเงินทุนจดทะเบียนเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาธารณรัฐเกาหลีคือประเทศนำหน้าในการลงทุนโดยตรงในจังหวัดบ่าเหรียะ – หวุงเต่า โดยผู้บริหารจังหวัดกำหนดว่า สาธารณรัฐเกาหลีเป็นนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์และวางมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมเพื่อดึงดูดนักลงทุนของประเทศนี้ให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นในเวลาข้างหน้า นายเหงียนแองเจี๊ยด หัวหน้าคณะกรรมการบริหารเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดบ่าเหรียะ – หวุงเต่าเผยว่า “จุดแข็งของนักลงทุนสาธารณรัฐเกาหลีคือเบิกจ่ายเงินรวดเร็วและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โครงการลงทุนของสาธารณรัฐเกาหลีส่วนใหญ่ใช้เงินทุนสูง มีการผลิตและประกอบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในมูลค่าการส่งออกของจังหวัดบ่าเหรียะ – หวุงเต่า ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการแปรเงินทุนจดทะเบียนไปเป็นเงินทุนปฏิบัติโครงการลงทุนอย่างรวดเร็วและตรงตามเวลาที่กำหนด”
ในตลอด 30 ปีนับตั้งแต่มีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนาม เวียดนามได้ปรับปรุงกลไกและนโยบายให้สิทธิพิเศษด้านการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดและบริหารแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นให้สิทธิพิเศษใน 3 ด้านคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีนำเข้าและส่งออกและในด้านที่ดิน ในปี 2019 นี้ เวียดนามจะปรับปรุงนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษในด้านที่ดินเพื่อสร้างรายรับให้แก่งบประมาณของประเทศ พร้อมทั้งดึงดูดโครงการลงทุนจากต่างประเทศต่อไป ในฟอรั่มเกี่ยวกับการดึงดูดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เวืองดิ่งเหวะ ได้ชี้ชัดว่า “ต้องมีกลไกที่คล่องตัวมากขึ้น ทั้งกลไกที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เช่น เวลา รูปแบบการลงทุนและการใช้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดึงดูดโครงการใหญ่ๆ จากเครือบริษัทข้ามชาติ เพื่อก่อสร้างศูนย์พัฒนานวัตกรรมและศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาในเวียดนาม สำหรับการบริหารด้านภาษี ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาการกำหนดราคาโอน ( Transfer pricing) ”
จนถึงปลายปี 2018 เวียดนามมีโครงการใช้เงินทุนเอฟดีไอกว่า 2 หมื่น 7 พัน 5 ร้อยโครงการ จาก 130 ประเทศและดินแดนรวมเงินทุนจดทะเบียน 3 แสน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาสังคม มีส่วนร่วมเกือบร้อยละ 20 ในจีดีพี ปัจจุบันนี้ โครงการเอฟดีไอมีส่วนร่วมต่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศร้อยละ 70 เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบให้แก่ดุลการค้าของเวียดนามในเวลาที่ผ่านมา การเพิ่มเงินลงทุนเอฟดีไอในหลายปีมานี้เป็นสัญญาณที่น่ายินดี โดยเฉพาะเป็นการแสดงให้เห็นว่า เวียดนามจะเปิดรับเงินทุนเอฟดีไอโดยมีการคัดเลือกอย่างรอบคอบเพื่อมุ่งสู่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน.