บูธของเวียดนามในงานแสดงสินค้า ณ ศูนย์การค้าฮานอย-มอสโคว์ |
มูลค่าการค้าต่างตอบแทนระหว่างเวียดนามกับรัสเซียเมื่อปี 2016 อยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเวียดนามไปยังรัสเซียบรรลุ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2015 ส่วนใน 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าต่างตอบแทนทวิภาคีได้บรรลุ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามคือสัตว์นํ้า ผักผลไม้ กาแฟ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน นาย เยืองหว่างมิง ทูตพาณิชย์ของสถานทูตเวียดนามประจำรัสเซียได้เผยว่า นอกเหนือจากการได้รับประโยชน์จากนโยบายปรับลดภาษีตามที่ได้ระบุในข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างเวียดนามกับสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย-ยุโรป ก็ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเวียดนามไปยังรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในเวลาที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนคณะผู้แทนระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานประเทศพร้อมคณะผู้แทนระดับสูงเวียดนามได้เดินทางไปเยือนประเทศรัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี โดยในกรอบการเยือนรัสเซียดังกล่าว ได้มีการลงนามข้อตกลงและสัญญาต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศในเวลาข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า เช่น การจัดงานแสดงสินค้าและงานนิทรรศการ ณ ศูนย์การค้าฮานอย-มอสโคว์”
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีมานี้ สถานทูตเวียดนาม ณ กรุงมอสโคว์ได้ประสานงานกับท้องถิ่นต่างๆของรัสเซีย เช่น เมือง Iaroxlap จังหวัด Xvetlop และเมือง Kursk ประเทศสาธารณรัฐ Bashkortostan แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ในการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อช่วยให้สถานประกอบการรัสเซียมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับตลาดเวียดนามและมีความประสงค์ที่จะกระชับความร่วมมือกับสถานประกอบการเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่สนใจคือมีสถานประกอบการเวียดนามจำนวนหนึ่งได้วางแผนความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆในรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพ นาย เทินดึ๊กเหวียด รองผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าหมายเลข10 ได้ยืนยันว่า“บริษัทได้รับใบสั่งซื้อเสื้อเชิ้ต 1 แสนตัวต่อปีจากบริษัท Handesonของรัสเซีย ซึ่งถึงแม้ตํ่ากว่าการสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐและยุโรป แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเรามีวัตถุประสงค์ไม่เพียงแต่เพื่อแสวงหาหุ้นส่วนต่างๆของรัสเซียเท่านั้น หากยังร่วมมือกับสถานประกอบการเวียดนามที่ทำการผลิตในประเทศรัสเซียเพื่อศึกษาความต้องการของผู้บริโภครัสเซียและมุ่งสู่การเจาะตลาดรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
ทั้งนี้ สามารถเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามกับประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจเอเชีย-ยุโรป รวมถึงรัสเซียได้พัฒนาอย่างเข้มแข็ง แต่ยังไม่สมกับศักยภาพของฝ่ายต่างๆ นาย ดั่งหว่างหาย อธิบดีกรมตลาดยุโรปสังกัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมได้เผยว่า หนึ่งในปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันคือการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจโรคในผลิตภัณฑ์เกษตร ป่าไม้และสัตว์นํ้า
“เวียดนามมีสถานประกอบการส่งออกสัตว์นํ้าแค่ 25 แห่งจากทั้งหมด 200 แห่งที่จดทะเบียนส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย ซึ่งตํ่ามากเมื่อเทียบกับจำนวน 500 บริษัทที่จดทะเบียนส่งออกสินค้าไปยังอียู นอกจากนี้ สำนักงานตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีกลไกความร่วมมือที่ชัดเจน หวังว่า รัฐบาลประเทศต่างๆจะลงนามข้อตกลงร่วมมือระหว่างสำนักงานตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อยกเลิกกำแพงกีดกันด้านเทคนิกในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ”
ในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาต่างๆภายใต้อำนวยการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเวียดนามและรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกสหภาพเศราฐกิจเอเชีย-ยุโรป ถึงแม้ยังมีอุปสรรคต่างๆ แต่สหภาพเศรษฐกิจเอเชีย-ยุโรป รวมทั้งรัสเซียยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากร 183 ล้านคนและเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่เต็มไปด้วยศักยภาพของเวียดนาม.