นาย เหงวียนมิงฟอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ (congthuong.vn) |
เศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยมคือรูปแบบเศรษฐกิจแบบบูรณาการของเวียดนามในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่สังคมนิยม นั่นคือเศรษฐกิจเชิงตลาดที่ทันสมัย ผสมผสานเข้ากับเศรษฐกิจโลก ดำเนินการตามกลไกเศรษฐกิจเชิงตลาดอย่างสมบูรณ์และพร้อมเพรียงภายใต้การบริหารจัดการของนิติรัฐสังคมนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นผู้นำเพื่อค้ำประกันการก้าวไปสู่สังคมนิยมเพื่อเป้าหมาย “ประชาชนมั่งคั่ง ประเทศเข้มแข็ง มีประชาธิปไตย ยุติธรรมและอารยธรรม” สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในระยะต่างๆ
ทัศนะที่เสมอต้นเสมอปลาย
ในเวียดนาม คำว่า “เศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยม” ถูกระบุอย่างเป็นทางการในเอกสารของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 9 เมื่อเดือนเมษายน ปี 2001 โดยพรรคและรัฐได้มีแนวทางปฏิบัตินโยบายพัฒนาเศรษฐกิจการค้าหลายภาคส่วนตามกลไกการตลาดภายใต้การบริหารของรัฐตามแนวทางสังคมนิยมอย่างเสมอต้นเสมอปลายในระยะยาว ต่อมาในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคสมัยที่ 12 เมื่อเดือนมกราคมปี2016 ได้เพิ่มเติมและพัฒนานิยามว่า เศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยมเวียดนามคือเศรษฐกิจที่ดำเนินการตามกลไกเศรษฐกิจเชิงตลาดอย่างสมบูรณ์และพร้อมเพรียง อีกทั้งค้ำประกันแนวทางสังคมนิยมให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในระยะต่างๆ นั่นคือเศรษฐกิจเชิงตลาดที่ทันสัมยและผสมผสานเข้ากับเศรษฐกิจโลก มีการบริหารของนิติรัฐสังคมนิยม ส่วนเอกสารของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคสมัยที่ 13 เมื่อปี 2021ได้ย้ำถึงการปรับปรุงกลไกเศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยมอย่างสมบูณณ์ พร้อมเพรียงและครบถ้วน โดยเน้นสร้างความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์และความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยม แก้ไขอุปสรรคและยกระดับคุณภาพกลไกเศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยม สร้างสรรค์เศรษฐกิจที่อิสระ พึ่งตนเอง ยกระดับประสิทธิภาพการผสมผสานเข้ากับเศรษฐกิจโลก นาย เหงวียนมิงฟอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้เผยว่า
“เวียดนามยึดเป้าหมายทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมั่งคั่ง ประเทศเจริญเข้มแข็ง มีประชาธิปไตย ยุติธรรมและอารยธรรม ซึ่งนี่คือเป้าหมายสูงสุดของเศรษฐกิจเชิงตลาดตามแนวทางสังคมนิยมเวียดนาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจเชิงตลาดของเวียดนามคือเศรษฐกิจที่ดำเนินการตามข้อกำหนด กฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติและพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อรับใช้มนุษย์ ถือมนุษย์เป็นเป้าหมายและเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดให้แก่การพัฒนา”
ผลสำเร็จที่ไม่สามารถปฏิเสธได้
ทั้งนี้ จากแนวทางที่เป็นเข็มทิศนำทางดังกล่าว เศรษฐกิจเวียดนามได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างข้ามขั้น โดยดร. เหงวียนดึ๊กเกียน อดีตหัวหน้าทีมให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีได้เผยว่า หนึ่งในความสำเร็จของเวียดนามคือการปรับปรุงกลไกเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนเพื่อดำเนินการอย่างราบรื่น ระบบกฎหมายของเวียดนามในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2013 กฎหมายต่างๆได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐบาลเวียดนามได้ให้คำมั่นไว้ โดยไม่มีองค์กรใดตำหนิเวียดนามว่า ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นในความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
เวียดนามยังเป็นประเทศที่ปฏิบัติเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนอย่างรวดเร็วที่สุด โดยทัศนะของเวียดนามเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมและแนวทางสังคมนิยมของเศรษฐกิจเชิงตลาดได้รับการรับรองผ่านผลงานในการแก้ปัญหาความยากจนและไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดร. กงฝ่าม ครูสอนวิชาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Deakin ประเทศออสเตรเลียได้ยืนยันว่า เศรษฐกิจเวียดนามคือเศรษฐกิจเชิงตลาด โดยได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลกตั้งแต่ปี2007 และได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงข้อตกลง FTA รุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานเข้มงวด เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม – สหภาพยุโรป หรือ EVFTA ข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หรือ CPTTP เป็นต้น ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ได้ช่วยให้เวียดนามผสมผสานเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างลึกท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศต่างๆ ที่นับวันมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งช่วยให้เวียดนามสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
อีกประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า เวียดนามได้พัฒนาจากเศรษฐกิจแบบ “รัฐอุปถัมภ์” เป็นเศรษฐกิจเชิงตลาดอย่างรวดเร็ว นั่นคือการก่อตั้งบริษัทเอกชนและบริษัทสตาร์ทอัพ ดร. เกิ๊นวันหลึก สมาชิกสภาให้คำปรึกษานโยบายด้านการเงินและเงินตราต่างประเทศแห่งชาติได้ประเมินเกี่ยวกับส่วนร่วมของเศรษฐกิจภาคเอกชนว่า
“ในระยะปี 2016 – 2021 เศรษฐกิจภาคเอกชนมีส่วนร่วมคิดเป็นร้อยละ 46ของจีดีพีและคาดว่า ในปี2025 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 โดยใช้แรงงานร้อยละ 85ของประเทศ ทำรายได้เข้างบประมาณแผ่นดินคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3”
นอกจากนี้ ตลาดการเงินเวียดนามกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนถึงเดือนสิงหาคมนี้ มี 73 ประเทศรับรองกลไกเศรษฐกิจเชิงตลาดของเวียดนาม รวมถึงเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของเวียดนามในภารกิจการพัฒนาประเทศและผสมผสานเข้ากับเศรษฐกิจโลก.