นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหรือ EC และบรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกกลุ่ม Mercosur ประกอบด้วย บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัยและปารากวัยได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-Mercosur ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ณ กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ทศวรรษ
ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ
สหภาพยุโรปและ Mercosur เริ่มเจรจาเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีหรือ FTA เมื่อปี 1999 แต่ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีคือจนถึงปี 2019 ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้น และในช่วงนั้นทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่า ข้อตกลงนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ภายใน 1-2 ปีหลังจากผ่านกระบวนการให้สัตยาบันในรัฐสภาของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 และขบวนการประท้วงที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส เบลเยียมและสเปนได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวถูกระงับเป็นเวลา 5 ปี และความพยายามในการบรรลุข้อตกลงฉบับนี้ได้รับการส่งเสริมอีกครั้งนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคณะผู้นำของกลุ่ม Mercosur โดยเฉพาะนับตั้งแต่นาย Lula da Silva กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลเมื่อต้นปี 2023 และในปีนี้ ในฐานะประธานกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาชั้นนำและเพิ่งเกิดใหม่ของโลกหรือ G20 ประธานาธิบดีบราซิลได้ใช้อิทธิพลของตนเพื่อโน้มน้าวให้ผู้นำยุโรปหลายคนเปลี่ยนจุดยืนเพื่อสนับสนุนข้อตกลงสหภาพยุโรป -Mercosur ให้เข้มแข็งมากขึ้น
ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ ถึงแม้จะยังมีข้อโต้แย้งมากมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายยุโรป แต่ข้อตกลงนี้ได้เปิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ทั้งสหภาพยุโรปและ Mercosur ถ้าหากได้รับการอนุมัติ ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่มอีกแห่งด้วยประชากรรวมกว่า 720 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 25 GDP ของโลก ตามเนื้อหาของข้อตกลง การกีดกันด้วยมาตรการภาษีกว่าร้อยละ 90 ในปัจจุบันจะถูกยกเลิก ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของยุโรป เช่น รถยนต์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์โทรคมนาคมและเภสัชภัณฑ์สามารถเจาะตลาดของ Mercosur ที่มีประชากร 273 ล้านคนด้วยการให้สิทธิพิเศษมากกว่าสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐและญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและแร่ธาตุที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ Mercosur ก็สามารถเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 450 ล้านคนและมีกำลังซื้อมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สำหรับสหภาพยุโรป ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน Mercosur จะเป็นเพียงหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่อันดับ 10 ด้วยมูลค่าการค้าต่างตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 1 แสน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว แต่นอกจากเป็นตลาดที่มีประชากร 273 ล้านคนแล้ว กลุ่มประเทศ Mercosur ยังเป็นแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลังงานอีกด้วย เช่น ลิเธียมและนิกเกิลที่ยุโรปต้องการอย่างมาก ในสภาวการณ์ที่ยุโรปกำลังตั้งใจเพิ่มความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนเปิดทางให้ยุโรปเข้าร่วมตลาดประมูลโครงการลงทุนภาครัฐที่เต็มศักยภาพในกลุ่มประเทศ Mercosur นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธาน EC แสดงความเห็นว่า
“ข้อตกลงนี้จะทำให้การลงทุนของยุโรปในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในประเทศกลุ่ม Mercosur ง่ายขึ้น เช่น การทำเหมืองแร่ที่ยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาป่าไม้ที่ยั่งยืน พร้อมทั้ง ช่วยให้การลงทุนในด้านที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนง่ายขึ้น เช่น การขยายเครือข่ายไฟฟ้าไปยังพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล หรือส่งเสริมการพัฒนาระบบดิจิทัลในภูมิภาค”
ความจำเป็นทางการเมือง
จนถึงช่วงก่อนที่นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน เดินทางไปยังอุรุกวัยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ Mercosur และลงนามข้อตกลงนี้ การคัดค้านภายในสหภาพยุโรปก็ยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้โปแลนด์ ออสเตรีย ส่วนอิตาลียังไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดบางข้อในข้อตกลง ดังนั้น การตัดสินใจของหัวหน้าคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการคัดค้านภายในเพื่อลงนามข้อตกลงกับ Mercosur จึงถือเป็นการกระทำที่คาดไม่ถึง เมื่ออธิบายถึงการตัดสินใจครั้งนี้ นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน แสดงความเห็นว่า นอกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ข้อตกลงนี้ยังมีความสำคัญทางการเมืองเป็นอย่างมาก สะท้อนพลังชีวิตของลัทธิพหุภาคีและการค้าเสรีระดับโลก
“ข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเป็นความจำเป็นทางการเมือง เราเป็นหุ้นส่วนที่มีความมุ่งมั่น และมีความเชื่อมั่นว่า การเปิดกว้างและความร่วมมือเป็นพลังขับเคลื่อนของความคืบหน้าและความเจริญรุ่งเรือง ดิฉันทราบว่า ปัจจุบัน มีแนวโน้มของความเห็นที่แตกต่าง แต่ข้อตกลงนี้คือคำตอบที่ชัดเจนของเรา”
เช่นเดียวกับความเห็นของนาง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน นาย เปโดร บริตส์ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนวิจัยเกตูลิโอ วาร์กัส ประเทศบราซิลเผยว่า การที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะยึดมั่นปฏิบัติแนวทางคุ้มครองทางการค้าด้วยการข่มขู่อย่างต่อเนื่องว่า จะเก็บภาษีต่อหุ้นส่วนการค้าของสหรัฐได้ทำให้ทั้งประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศในกลุ่ม Mercosur ถูกกดดันให้ต้องเสร็จสิ้นข้อตกลงโดยเร็วเพื่อขยายตลาด เพิ่มความหลากหลายของหุ้นส่วนการค้า รับมือความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐในอนาคตอันใกล้นี้
“ขณะนี้ สามารถคาดเดาได้ว่า ด้วยชัยชนะของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐจะปฏิบัตินโยบายที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นและปฏิบัตินโยบายที่เข้มงวดต่อตลาดต่างประเทศ ผมคิดว่า สิ่งนี้ได้ทำให้ทั้งประเทศในยุโรปและในกลุ่ม Mercosur ต้องเร่งดำเนินการ แก้ไขอุปสรรคและจัดทำข้อตกลงให้แล้วเสร็จ”
ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับข้อตกลงในปัจจุบันคือ การฟันฝ่าอุปสรรคภายในยุโรปเพื่อบังคับใช้ ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกอย่างน้อย 15 ประเทศจากทั้งหมด 27 ประเทศ ซึ่งมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 65 ของสหภาพยุโรป และได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามในรัฐสภายุโรป ส่วนฝรั่งเศส โปแลนด์และออสเตรียยังคงคัดค้านข้อตกลงนี้ด้วยเงื่อนไขปัจจุบันโดยอ้างว่า ข้อตกลงนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของยุโรป ดังนั้น บรรดาผู้สังเกตการณ์แสดงความเห็นว่า ในเวลาที่จะถึง EC สามารถประกาศใช้นโยบายให้สิทธิพิเศษใหม่ ๆ ทางการเกษตรเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากสมาคมเกษตรกรของประเทศอื่น ๆ เพื่อได้รับเสียงสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับข้อตกลงฉบับนี้.