การชุมนุมประท้วงด้านหน้าสถานทูตสวีเดนในกรุงอังการา ประเทศตุรกีเพื่อคัดค้านการเผาคัมภีร์อัลกุรอานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม2023 (AFP) |
การเผาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่และมีโทษถึงประหารชีวิต การจัดการประชุมฉุกเฉินของสภาสิทธิมนุษยชนเป็นไปตามคำร้องของปากีสถาน ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกหลายประเทศขององค์การความร่วมมืออิสลามหรือ OIC รวมทั้งสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สภาฯจะหารือเกี่ยวกับกระแสความเกลียดชังทางศาสนาในบางประเทศในยุโรปและประเทศอื่น ๆ ที่มักเกิดปัญหาการดูหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ชาวมุสลิมแสดงความเดือดดาล
ความโกรธเคืองของโลกมุสลิมทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่วันมานี้ หลังจากที่นาย Salwan Momika ชาวอิรักที่อาศัยอยู่ในสวีเดนได้เผาคัมภีร์อัลกุรอานนอกมัสยิดในกรุงสตอกโฮล์มเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเริ่มพิธี Eid al-Adha ที่สำคัญของชาวมุสลิม
ตุรกี โมร็อกโก อิรัก ปากีสถาน คูเวตและอิหร่านได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ นาย ฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้ประณามทางการสวีเดนที่ปล่อยให้เกิดการกระทำต่อต้านชาวมุสลิมว่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ส่วนอิรัก คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โมร็อกโกและจอร์แดนได้เรียกตัวนักการทูตสตอกโฮล์มเพื่อประท้วงและเรียกร้องให้ยุติการกระทำที่ต่อต้านความพยายามระหว่างประเทศในการเผยแพร่คุณค่าแห่งความเมตตา ความอดทน ความอ่อนโยนและการกำจัดแนวคิดลัทธิสุดโต่ง อิหร่านได้เลื่อนการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำสวีเดน ส่วนประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสวีเดนเกี่ยวกับการแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพในการปล่อยให้คนอย่าง Momika ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม องค์กรความร่วมมืออิสลามหรือ OIC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสามัคคีและปฏิบัติร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระทำดูหมิ่นศาสนานี้อีก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ประณามการกระทำดังกล่าว และย้ำว่า ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันการต่อต้านชาวมุสลิม ในวันเดียวกัน สำนักงานด้านการต่างประเทศของยุโรปหรือ EEAS ได้เผยว่า การเผาคัมภีร์อัลกุรอานที่เกิดขึ้นในสวีเดนเป็นการกระทำเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ทัศนะของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งสหภาพยุโรปยืนยันการประณามการกระทำนี้และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพยายามไม่ให้สถานการณ์นี้บานปลาย
เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกตอบโต้ทางการทูตครั้งใหม่และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุปสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATO ทางกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดนได้ออกมาประกาศว่า การเผาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นการต่อต้านอิสลาม แม้สวีเดนจะมีข้อกำหนดในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็มีข้อกำหนดที่ห้ามไม่ให้มีการเหยียดเชื้อชาติ การสร้างความเกลียดชังและการไม่มีความเมตตา
นาย Salwan Momika ชาวอิรักที่อาศัยอยู่ในสวีเดนได้เผาคัมภีร์อัลกุรอานนอกมัสยิดในกรุงสตอกโฮล์มเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน (AFP) |
ทำให้ความขัดแย้งระหว่างโลกมุสลิมกับยุโรปมีความลึกซึ้งมากขึ้น
การเผาคัมภีร์อัลกุรอานในสวีเดนในเวลาที่ผ่านมาไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ทำให้โลกมุสลิมมีความโกรธเคืองเนื่องจากการถูกดูหมิ่นศาสนา โดยเมื่อเดือนกันยายนปี 2005 หนังสือพิมพ์รายวันของเดนมาร์กได้ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด 12 ภาพ ซึ่งนำไปสู่การประท้วงของชาวมุสลิมที่ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012 ได้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในอัฟกานิสถานเพื่อคัดค้านการเผาคัมภีร์อัลกุรอานของทหารสหรัฐ ในปีเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่อง “The Innocent of muslims” ซึ่งผลิตโดยชาวอเมริกันถูกถือว่า ดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัด ก็ทำให้เกิดกระแสประท้วงเช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อปี 2015 นิตยสาร Charlie Hebdo ของฝรั่งเศสได้มีเนื้อหาที่ล้อเลียนชาวมุสลิมจนนำไปสู่การกราดยิงใส่สำนักงานใหญ่ของนิตยสารนี้ในกรุงปารีส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คนและผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 คน และในครั้งนี้ สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแบบตะวันตกกำลังถูกตั้งคำถามอีกครั้งเนื่องจากได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อันตราย เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วระหว่างตุรกีกับสวีเดน ซึ่งทางสวีเดนกำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATO และกำลังถูกขัดขวางจากตุรกี
นอกจากนั้น การกระทำดังกล่าวได้สร้างความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งระหว่างโลกมุสลิมกับยุโรป เพิ่มการต่อต้านอิสลาม แนวคิดสุดโต่งและการก่อการร้าย อีกทั้งเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังและความรุนแรงในโลก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเป็นข้ออ้างเพื่อให้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง กลับมาเคลื่อนไหวทำการก่อการร้ายอีกครั้งในยุโรป.