เหตุไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 (Getty Images) |
"การใช้ชีวิตร่วมกันธรรมชาติอย่างสันติ" คือปฏิบัติการที่ต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากไม่มี "วัคซีน" สำหรับโลก นี่คือข้อความที่เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติเรียกร้องในโอกาสที่สหประชาชาติประกาศรายงานสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลกปี 2020 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม
ตัวเลขที่น่าตกใจ
รายงานสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลกประจำปี 2020 ยืนยันว่า ปี 2020 เป็นหนึ่งในสามปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมปีนี้สูงกว่าอุณหภูมิในช่วงปี 1850-1900 ถึง 1.2 องศาเซลเซียส และในปี 2020 โลกได้เห็นถึงปัญหาคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่าและพายุหลายครั้ง ในขณะที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงเป็นประวัติกาล
ควบคู่กันนั้น ระบบนิเวศของโลกกำลังเผชิญกับสภาวะที่น่าตกใจ โดยมีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 1 ล้านสายพันธุ์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ พื้นที่ทะเลทรายกำลังขยายกว้างมากขึ้นในขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำหายไปเรื่อยๆ โลกยังสูญเสียพื้นที่ป่าประมาณ 10 ล้านเฮกตาร์ มลพิษทางอากาศและทางน้ำในแต่ละปีทำให้ประชาชน 9 ล้านคนเสียชีวิต โดยเมื่อปี 2019 ภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทำให้โลกเสียเงิน 1 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ตามผลการวิจัยของวารสารการแพทย์ The Lancet ที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ปรากฎว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้โรคระบาดปรากฏมากขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน ทุกประเทศไม่ว่าเป็นประเทศใหญ่หรือประเทศเล็กต่างก็กำลังต้องเผชิญกับปัญหาสาธารณสุขที่นับวันเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้สูงอายุเสียชีวิตจากสภาพอากาศได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 โดยในปี 2018 มีประชาชนในโลกเกือบ 300,000 คนเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน
จากสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลดังกล่าว สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกประเทศต้องมีปฏิบัติการที่เคร่งครัดเพื่อยุติสถานการณ์ที่โลกกำลังถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งที่สำคัญกว่าคือทุกคนในโลกต้องยุติการสร้างสงครามกับธรรมชาติ ในสภาวการณ์ดังกล่าว ปี 2021 จะเป็นโอกาสสำหรับการยุติการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ผ่านการเริ่มกระบวนการเยียวยาและปกป้องโลก ซึ่งเพื่อปฏิบัติสิ่งนี้ สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งให้คำมั่นว่า จะปล่อยมลพิษเป็น 0 และให้เงินสนับสนุนความพยายามในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ขยะพลาสติกในมหาสมุทร (AFP) |
โลกร่วมกันปฏิบัติ
คาดว่า ในการประชุมภายใต้หัวข้อ "Climate Ambition" ซึ่งจัดโดยรัฐบาลอังกฤษและสหประชาชาติในโอกาสครบรอบ 5 ปีข้อตกลงปารีสในวันที่ 12 ธันวาคมจะวางแนวทางใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ ก่อนการประชุม รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศว่า ประเทศนี้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 ใน 3 ในทศวรรษนี้ และถึงปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับปี 1990 มุ่งสู่การสร้างความสมดุลของคาร์บอนภายในปี 2050 เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษยังประกาศแผนการเกี่ยวกับ "การปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว" โดยยืนยันว่า จะสร้างและสนับสนุนงานทำ 250,000 ตำแหน่ง แผนดังกล่าวรวมถึงการห้ามขายรถยนต์เบนซินและดีเซลที่ผลิตใหม่ เพิ่มการใช้พลังงานจากลมนอกชายฝั่งขึ้นอีก 4 เท่าและขยายกำลังการผลิตไฮโดรเจนในทศวรรษหน้า ส่วนจีน สหภาพยุโรปหรืออียู ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีได้ให้คำมั่นที่จะมุ่งสู่การสร้างความสมดุลของคาร์บอน
ตามรายงานของสหประชาชาติ คำมั่นของประเทศต่างๆเกี่ยวกับการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งได้รับการอนุมัติในการประชุมของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 เมื่อเดือนธันวาคมปี 2015 ได้บรรลุเพียงร้อยละ 15 ของความพยายามที่ต้องการเท่านั้น เพื่อให้อุณหภูมิของโลกอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือถึงช่วงปี 2060-2070 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องลดลงร้อยละ 7.6 ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า
เป็นที่ชัดเจนว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเวลาที่ผ่านมาทำให้ประเทศต่างๆต้องมีปฏิบัติการ ยิ่งกว่าเวลาใดทั้งหมด ปัญหาเร่งด่วนที่วางไว้คือ ประเทศต่างๆต้องมีบทบาทมากขึ้นในการรับมือและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อค้ำประกันให้แก่อนาคตของข้อตกลงปารีส ตลอดจนความปลอดภัยของชาวโลก./.