ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือลองบีชในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ |
ในการประเมินเกี่ยวกับรายงานประจำปีนี้ นาง เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO ได้แสดงความเห็นว่า เนื้อหาที่โดดเด่นที่สุดของรายงานนี้คือได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทการเปลี่ยนแปลงของการค้าในการแก้ปัญหาความยากจนและการแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการค้าระหว่างประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมากำลังถูกทำลายเนื่องจากความท้าทายมากมาย
บทบาทของการเปลี่ยนแปลงทางการค้า
ตามรายงานของ WTO ในช่วงปี 1995-2022 การมีส่วนร่วมของประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางต่อการค้าโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 38 ผลงานนี้มาจากส่วนแบ่งการค้าในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นและเกือบจะเท่ากับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางเพิ่มขึ้น 3 เท่า ตั้งแต่ปี 1995 การค้าโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ประชาชน 1.5 พันล้านคนทั่วโลกหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกของ WTO และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือ GATT เพิ่มขึ้น 140%
รายงานของ WTO ยังระบุอย่างชัดเจนถึงบทบาทในการส่งเสริมการค้า เมื่อประเทศต่างๆ ที่กำลังอยู่ในระยะการเจรจาเพื่อเข้าร่วม WTO ต่างมีการขยายตัว GDP ที่เร็วขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายนี้ การค้ายังมีส่วนร่วมต่อการแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองของโลกอย่างสมดุลมากขึ้นผ่านการลดช่องว่างของรายได้ระหว่างประชาชนในเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำและปานกลางกับเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง ตัวอย่างคือในช่วงปี 1995-2020 อัตราการลดช่องว่างรายได้เป็นไปเร็วขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 20-35 นาย ราล์ฟ ออสซา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ WTO เผยว่า
“การลดช่องว่างรายได้ด้วยการค้าได้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชนหลายร้อยล้านคน สัดส่วนของคนยากจนขั้นรุนแรงในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางลดลงจากร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี 1995 เหลือประมาณร้อยละ 11 ในขณะที่ส่วนแบ่งการค้าใน GDP ของเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากร้อยละ 16 ขึ้นเป็นร้อยละ 32”
แต่อย่างไรก็ตาม WTO ได้เตือนว่า กระแสลัทธิการคุ้มครองการค้า รวมถึงนโยบายเพิ่มภาษีนำเข้าในประเทศร่ำรวยกำลังสร้างภัยคุกคามที่จะกัดกร่อนความสำเร็จที่ได้บรรลุในตลอด 3 ทศวรรษแห่งโลกาภิวัตน์ทางการค้าที่ผ่านมา โดยเฉพาะ WTO ประเมินว่า กำแพงด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นระหว่างเศรษฐกิจต่างๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อครอบครัวที่มีรายได้น้อย สตรีและบริษัทขนาดเล็ก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายนี้เผชิญกับความยากลำบากมากมายในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการค้าคงที่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆนี้ การที่สหรัฐ แคนาดาและสหภาพยุโรปเพิ่มภาษีต่อรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีนได้ทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยในประเทศเหล่านี้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยในจีนที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบทางการเงินเช่นกัน ในขณะเดียวกัน WTO ชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวที่มีรายได้สูงใช้สินค้านำเข้าจากประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
นาง เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO (AFP) |
ความท้าทายเกี่ยวกับการค้าที่ยั่งยืนและครอบคลุม
นอกจากความเสี่ยงเกี่ยวกับการกลับมาของลัทธิคุ้มครองทางการค้าแล้ว ปัจจุบัน การค้าโลกยังต้องแก้ไขความท้าทายยุคใหม่อีกด้วย เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม ในสภาวการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างภัยคุกคามต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจของหลายประเทศและชุมชน นอกจากนี้ นี่ยังเป็น 2 หัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในฟอรั่มชุมชนซึ่งจัดโดย WTO และหุ้นส่วนต่างๆในระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้เน้นถึงมาตรการเพื่อช่วยให้การค้าโลกนำผลประโยชน์มาสู่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและรับมือผลกระทบที่ร้ายแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพื่อมีพื้นฐานให้แก่การอภิปรายเหล่านี้ ในวันแรกของฟอรั่ม เมื่อวันที่ 10 กันยายน WTO ได้ประกาศ “ฐานข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลทางการค้าหรือ TDC” นาง Angela Ellard รองผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO เผยว่า นี่เป็นโครงการริเริ่มที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของ WTO ในการเพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในระบบการค้าพหุภาคี TDC อนุญาตให้ประเทศสมาชิกของ WTO เข้าถึงและเรียนรู้เกี่ยวกับข้อกังวลทางการค้ากว่า 1,800 ข้อที่ส่งไปยัง WTO ตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งเป็นช่วงก่อตั้ง WTO โดยเรียงตามหมวดหมู่ ตั้งแต่ความกังวลที่เกี่ยวข้องกับกำแพงภาษี ไปจนถึงความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิค เงินอุดหนุนหรือการขัดขวางการเข้าถึงตลาด นาย ราล์ฟ ออสซา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ WTO แสดงความเห็นว่า ความโปร่งใสด้านข้อมูลจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกของระบบการค้าโลก และส่งเสริมความครอบคลุมของการค้า
“ทัศนะหลักในการวิเคราะห์ของเราคือ การแลกเปลี่ยนการค้าที่น้อยลงหรือการแลกเปลี่ยนการค้าเพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยส่งเสริมความครอบคลุม หากในทางเป็นจริง ความครอบคลุมต้องมียุทธศาสตร์ในทุกด้านโดยมีการผสานการค้าแบบเปิดกับนโยบายภายในประเทศที่ช่วยส่งเสริมและความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ”
ความท้าทายที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งของการค้าโลกในปัจจุบันคือความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยในวันแรกของฟอรั่ม ณ เมืองเจนีวา เมื่อวันที่ 10 กันยายน ได้มีการจัดการหารือในหัวข้อ “Re-Globalization: การค้าในโลกภูมิรัฐศาสตร์” ซึ่งจัดขึ้นโดย WTO และสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศ Peterson เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการธำรงและส่งเสริมกระแสการค้าโลกในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์และการปะทะที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาอื่นๆ เช่น ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ต่อห่วงโซ่อุปทาน Digitization หรือกระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัลและการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญก็เป็นความท้าทายต่อการค้าโลกที่ต้องได้รับการแก้ไข.