(VOVworld) – ในวันที่๘สิงหาคม อาเซียนจะครบรอบ๔๖ปีการก่อตั้งซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความหมายพิเศษต่อ๑๐ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเวียดนาม ใน๔๖ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้มีก้าวเดินที่เข้มแข็งในกระบวนการสร้างความเป็นเอกภาพเพื่อยืนยันถึงการเป็นหนึ่งในองค์การระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ มีส่วนร่วมผดุงรักษาสันติภาพและความมั่นคง ที่เอื้ออำนวยให้แก่การพัฒนาในเอเชีย-แปซิฟิก และขยายอิทธิพลในทั่วโลก
|
บรรดาผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่๔๖( Photo:VOV) |
องค์การอาเซียนได้รับการก่อตั้ง ณ กรุงเทพ ประเทศไทย เมื่อวันที่๘สิงหาคมโดยมี๕ประเทศสมาชิกในภูมิภาคที่เคยเกิดสงคราม การปะทะอย่างดุเดือด และเผชิญกับความอดอยากยากจนและความล้าหลัง จนถึงปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิก๑๐ประเทศที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขององค์การนี้และสถานการณ์ในภูมิภาคในขั้นพื้นฐาน องค์การอาเซียนในปัจจุบันได้สร้างพลังที่เข้มแข็ง และความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่บนพื้นฐานของมิตรภาพ ความเข้าใจ และความไว้วางใจกันที่ช่วยให้องค์การนี้มีก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจและการเมือง ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาเซียนใน๔๖ปีที่ผ่านมาคือ การอนุมัติกฎบัตรอาเซียนซึ่งถือเป็นพื้นฐานเพื่อให้อาเซียนปฏิบัติคำมั่นสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนใน๓เสาหลักคือ ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในปี๒๐๑๕ ในสภาวการณ์ที่โลกมีการผันผวนอย่างซับซ้อนและความมั่นคงกำลังถูกคุกคาม อาเซียนตระหนักได้ว่า จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติคำมั่นสัญญาของตนให้จงได้ นายเลเลืองมินห์เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า“เหลืออีกเพียง๒ปี อาเซียนต้องบรรลุเป้าหมายสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนในปี๒๐๑๕ ดังนั้น อาเซียนจึงมีความตั้งใจที่จะขยายพลังภายในเพื่อสามารถสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนในปี๒๐๑๕ใน๓เสาหลักซึ่งมาตรการเหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติแบบบูรณาการและมีการติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดและปัจจุบัน อาเซียนกำลังเตรียมการวางแนวทางให้แก่อาเซียนหลังปี๒๐๑๕และวางระเบียบการปฏิบัติเพื่อค้ำประกันให้อาเซียนพัฒนาต่อไป ผสมผสานในทุกด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและนำอาเซียนกลายเป็นองค์การระดับภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ยั่งยืนและยุติธรรม”
อาเซียนสามารถปฏิบัติเป้าหมายที่ได้วางไว้อย่างลุล่วงไปด้วยดีบนพื้นฐานที่มีอยู่โดยเฉพาะ เมื่อมองดูความสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่๔๖ ณ ประเทศบรูไน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งที่ประชุมระบุว่า อาเซียนเป็นหนึ่งเดียวซึ่งเป็นสาส์นที่กระทัดรัดและไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ใน๔๖ครั้งที่ผ่านมาและยังมีการออกแถลงการณ์ร่วมที่บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศได้อนุมัติในการประชุมซึ่งรวมถึงความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับปัญหาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค การร่วมฟันฝ่าความท้าทายด้านความมั่นคงและการผสมผสานเพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี๒๐๑๕ โดยเฉพาะ ทัศนะร่วมกันในการแก้ไขการพิพาทในทะเลตะวันออกซึ่งถือว่า เป็นปัญหาที่ซับซ้อนที่สุด ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมครั้งที่๔๖ ท่านฝ่ามบิ่งมินห์ รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามได้กล่าวว่า“ปัญหาทะเลตะวันออกได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆในภูมิภาคและได้รับความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ในอาเซียน และอาเซียนต้องการแก้ไขปัญหาทะเลตะวันออกอย่างสันติ มีความอดกลั้น ไม่ใช้หรือขู่ใช้กำลังและปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายสากล รวมทั้ง อนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลปี๑๙๘๒ แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆในทะเลตะวันออกหรือDOCระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะ บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นพ้องกันว่า จะผลักดันการเสร็จสิ้นการร่างระเบียบปฏิบัติต่อกันในทะเลตะวันออกหรือCOCกับจีนซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกับจีนเกี่ยวกับการประชุมเพื่อสำรวจการปฏิบัติDOCและทำการทาบทามความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการไปสู่COC”
ความสามัคคี และความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ของอาเซียน โดยเฉพาะ ในการแก้ไขปัญหาที่อ่อนไหวได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ของอาเซียนในหลายปัญหาที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆได้ส่งพลังเข้มแข็งใหม่ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนบนเส้นทางมุ่งสู่เป้าหมายสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน ท่านMarty Netalegawa รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้กล่าวว่า “ตั้งแต่ปีกลายมาจนถึงปัจจุบันได้มีความเปลี่ยนแปลงในแนวทางการแก้ไขปัญหาทะเลตะวันออกของอาเซียน พวกเราได้มีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับเป้าหมายขั้นพื้นฐานของCOCเพราะนี่เป็นเอกสารที่สร้างกรอบทางนิตินัยที่สำคัญโดยอาศัยข้อกำหนดของกฎหมายเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมของทุกฝ่ายในทะเลตะวันออกซึ่งก่อนอื่นคือต้องปฏิบัติเพื่อเป้าหมายสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัยและการเดินเรืออย่างเสรี ผลักดันความร่วมมือเพื่อสร้างความไว้วางใจ ยับยั้งไม่ให้เกิดการพิพาทเพิ่มขึ้น แก้ไขการพิพาทอย่างสันติบนพื้นฐานของกฎหมายสากลและอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลปี๑๙๘๒” ในระยะต่อไป อาเซียนจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายแต่ก็เป็นโอกาสเพื่อให้อาเซียนปรับปรุงองค์กรให้มีความสมบูรณ์ อาเซียนกำลังพยายามใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มเหนือผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ ผลสำเร็จใน๔๖ปีที่ผ่านมาจะช่วยให้อาเซียนพัฒนาต่อไปและจะนำชีวิตที่อิ่มหนำผาสุข สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองมาให้แก่ประชาชนทุกคนในภูมิภาคอย่างแน่นอน./.