( VOVworld )-
เมื่อดอกท้อภาคเหนืออวยสีแดงและดอกเหมยภาคใต้บานสะพรั่งอวดสีเหลืองเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ฤดูใบไม้ผลิได้เวียนมาแล้วและก็ตรงกับช่วงเทศกาลตรุษเต็ตพอดี คนภาคใต้ฉลองตรุษเต็ตตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีสีสันเฉพาะภาคของตน
|
ดอกเหมยโชว์ความสวยงามท่ามกลางแสงแดดแห่งฤดูใบไม้ผลิภาคใต้
|
เมื่อเทศกาลตรุษเต็ตเวียนมา ชาวภาคใต้ที่ประกอบด้วยจังหวัดภาคกลางตอนใต้ นครโฮจิมินห์ จังหวัดเขตตะวันออกและตะวันตกภาคใต้ที่ประกอบอาชีพที่แตกต่างกันในต่างจังหวัดต่างมาชุมนุมกับครอบครัว ก่อนเทศกาลตรุษเต็ตประมาณ ๑๕ วัน ทุกบ้านมีการทำความสะอาด ทาสีบ้าน ประตูและหน้าต่าง มีการประดับประดาตบแต่งบ้านให้สวยงาม มีการจัดพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าเตาในวันที่ ๒๓ เดือน ๑๒ ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่เนิ่นนานเพื่อส่งเทพเจ้าเตาสู่สวรรค์ ท่านดว่านจ่องฮุย นักวิจัยวัฒนธรรมเห็นว่า “ สำหรับชาวภาคใต้เวียดนาม ในถาดอาหารเซ่นไหว้เทพเจ้าเตาเพื่อส่งสู่สวรรค์นั้น อาหารอย่างหนึ่งที่ขาดมิได้คือ แจ่โจยเนือกที่คล้ายๆบัวลอยน้ำขิงของไทย ซึ่งชื่อของของหวานนี้สะท้อนความปรารถนาของชาวภาคใต้ว่า ในปีใหม่จะประสบแต่ความสะดวกทุกอย่าง เพราะคำว่าโจยนั้นหมายความว่า ความราบรื่นความสะดวก ”
ชาวภาคใต้ให้ความสำคัญต่อการตอบแทนบุญคุณบรรพบุรุษและญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น ก่อนเทศกาลตรุษเต็ต พวกเขามักจะจุดธูป ถวายดอกไม้และผลไม้ที่สุสาน ทำความสะอาดสุสานและเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษกลับมาร่วมรับประทานอาหารในช่วงตรุษเต็ต ส่วนในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ซึ่งสำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ ๓๐ มกราคม ทุกคนในครอบครัวเตรียมพร้อมทุกอย่างให้แก่ช่วงตรุษเต็ต โดยผู้หญิงจะทำอาหารเพื่อไหว้บรรพบุรุษใน ๓ วันคือ วันส่งท้ายปีเก่าวันตรุษเต็ตและวันที่ ๒ ส่วนผู้ชายเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ นายเจืองหงอกเตื่อง นักวิจัยวัฒนธรรมพื้นเมืองภาคใต้เปิดเผยว่า “ ชาวภาคใต้เรียกตรุษเต็ตว่า ฉลองตรุษเต็ตเพราะ ในช่วงนั้นพวกเขาได้หยุดพักผ่อน ร่วมรับประทานอาหารกันพร้อมหน้าทุกคน ขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ อวยพรปีใหม่ลูกหลานและไปเที่ยว ส่วนการเซ่นไหว้บรรพบุรุษจะทำใน ๓ วันเท่านั้นเพราะในช่วงเทศกาลตรุษเต็ตเรามีความอิ่มหนำผาสุกและสนุกรื่นเริงก็ไม่ควรลืมบรรพบุรุษ ”
ต้นเสาตุงไล่พวกปีศาจ
บนหิ้งบูชาบรรพบุรุษมักจะมีช่อดอกเหมยและผลไม้มงคล ๕ ชนิดได้แก่ ทุเรียนเทศ แตงโม มะละกอ มะพร้าวและสับปะรด ซึ่งทุเรียนเทศออกเสียงว่า หมางเกิ่ว แตงโมออกเสียงว่า เหวื่อ มะละกอออกเสียงว่าดูดู๋ แปลได้ความหมายว่า อธิษฐานให้ปีนี้มีเงินทองพอใช้ ส่วนสับปะรด ๓ ลูกสะท้อนความมั่นคง สำรับอาหารถวายบรรพบุรุษต้องมีหมูพะโล้ ผักกาดหรือถั่วงอกดอง ปลาทอด ขนมขบเคี้ยว อาหารพวกผัดต่างๆและแกงมะระที่แสดงให้เห็นฝีมือปรุงอาหารของสตรีภาคใต้ นายฟานวันฮึง ชาวจังหวัดด่งนายเปิดเผยว่า “
พวกเราฉลองตรุษเต็ตตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ วันส่งท้ายปีเก่า เราเชิญวิญญาณบรรพบุรุษปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตไปแล้วมารับประทานอาหารที่บ้าน มีการทำอาหารไหว้บรรพบุรุษ จุดธูปและถวายดอกไม้ผลไม้ บ้านผมจัดทำสำรับอาหาร ๓ สำรับมีหมูพะโล้ ปลาต้มเค็ม ขนมแบ๊งแต๊ตและขนมแบ๊งอิ๊ต พร้อมขนมขบเคี้ยวและจุดธูปถวาย ”
และยังมีประเพณีปลูกเสาตุงกับทำแจ่หรือของหวาน ตามประเพณีโบราณ การปลูกเสาตุงหน้าบ้านเพื่อปัดไล่พวกปีศาจไม่ให้มาก่อกวนครอบครัวของตนเอง ส่วนแจ่หรือของหวานนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการชุมนุมของทุกคนในครอบครัว ความอบอุ่น ความหวานและผาสุกในช่วงตรุษเต็ต แต่ปัจจุบันนี้ ประเพณีปลูกเสาตุงหน้าบ้านค่อยเลือนหายไป มีบ้านไม่กี่หลังยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้แต่ยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำของชาวภาคใต้ตลอดไป นายเจืองหงอกเตื่องเล่าว่า “ บ้านผมจะทำแจ่หรือของหวานตอนบ่ายวันส่งท้ายปีเก่า เมื่อรับประทานแจ่เสร็จก็ไปรดน้ำต้นไม้ ภาคใต้ไม่มีประเพณีเด็ดยอดใบอ่อนในวันขึ้นปีใหม่เพื่อเป็นสิริมงคล แต่มีประเพณีรดน้ำต้นไม้ดอกและต้นไม้ประดับที่สวนในบ่ายวันส่งท้ายปีเก่า การรดน้ำต้นไม้เพื่อที่จะไม่ต้องรดน้ำใน ๓ วันตรุษเต็ตและห้ามเด็ดผลหรือกิ่งไม้ใน ๓ วันนั้น ”
ประเพณีฉลองตรุษเต็ตในภาคใต้เวียดนามเป็นสิ่งเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ./.