สักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง
|
จุดกำเนิดของความเลื่อมใสสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งมาจากความเชื่อว่า ชนชาติเวียตเป็นลูกหลานมังกรนางฟ้า ซึ่งสะท้อนคติประจำใจของชาติเวียดนามคือ “ดื่มน้ำต้องรำลึกถึงแหล่งที่มาของน้ำ” จิตใจแห่งความสามัคคีและการเชื่อมโยงในชุมชน โดยเฉพาะการที่โบราณสถานต่างๆในจังหวัดฟู้เถาะจัดงานบูชากษัตริย์หุ่งพร้อมกับผู้ที่มีคุณูปการต่างๆของเวียดนาม เช่น เจ้าหญิงเตียนยุง เจ้าหญิงหงอกฮวา ขุนนางในราชวงศ์หุ่ง เทพต๋านเวียนเซินแท้งและสองวีรกษัตรีตระกูลตรึง เป็นต้น สำหรับชนเผ่าต่างๆในจังหวัดฟู้เถาะ ความเลื่อมใสสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งมีคุณค่าเป็นอย่างมากต่อชีวิตทางจิตใจและจิตวิญญาณ นายห่าวันลี้ ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องในหมู่บ้านดิ่งจูง ตำบลย้าปลาย อำเภอแทงเซิน จังหวัดฟู้เถาะเผยว่า “ผมเกิดและเติบโตในผืนแผ่นดินนี้ ในสมัยวัยเด็กก็เห็นศาลาดิ่งจุง แม้สงครามจะทำให้ประเพณีและเทศกาลต่างๆถูกหลงลืมแต่ในหลายปีมานี้ รัฐได้ฟื้นฟูเทศกาลและประเพณีการสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งเราสนับสนุนอย่างเต็มที่”
ในหลายปีมานี้ได้มีการบูรณะศาลาดิ่งจูงเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมวัฒนธรรมและความเชื่อของตำบล โดยยังรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองเอาไว้เพื่อสื่อถึงความสงบและสันติสุข แม้ที่หมู่บ้านดิ่งจูง จะมีวัตถุโบราณไม่มากนักแต่โบราณสถานต่างๆก็แสดงให้เห็นถึงความเคารพและจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกของทางการท้องถิ่นและประชาชนในตำบล การจัดเทศกาลในหมู่บ้านและการแสดงศิลปะพื้นเมือง เป็นต้น ได้ช่วยยกระดับชีวิตทางจิตใจของประชาชนชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมืองที่นี่ ช่วยรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมและยกเลิกประเพณีที่ล้าหลังต่างๆ นางเหงียนถิเซิม ชาวบ้านในตำบลย๊าปลายแสดงความคิดเห็นว่า “พวกเรามีความประสงค์ที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนตระหนักได้ดีเกี่ยวกับการสร้างสรรค์และรักษาศาลานี้ให้สวยงาม พวกเรามาเซ่นไหว้ทุกวัน โดยเฉพาะในวันขึ้น 15 ค่ำ และวันเทศกาลต่างๆ”
ปัจจุบันนี้ อำเภอแทงเซิน จังหวัดฟู้เถาะมีโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ 11 แห่งที่ได้รับการรับรอง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบุคคลในราชวงศ์กษัตริยหุ่ง โดยเฉพาะเทพต๋านเวียนเซินแท้ง การอนุรักษ์ความเลื่อมใสสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติต้องได้รับการปฏิบัติพร้อมกับการอนุรักษ์โบราณสถานทางประวัติศาสตร์และเทศกาลพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง ในความเป็นจริง มรดกวัฒนธรรมนามธรรม เช่น ฆ้อง การร้องเพลงวี้ เพลงยางและเดิมด๊วงของชนกลุ่มน้อยเหมื่องกำลังได้รับการอนุรักษ์อย่างดีในชุมชนชน ทั้งนี้และทั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า หากประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกมีความตั้งใจในการอนุรักษ์ มรดกวัฒนธรรมเหล่านี้จะมีชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ดร.เหงียนแองต๊วน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หุ่งเวืองในจังหวัดฟู้เถาะ ซึ่งได้ใช้เวลาหลายปีในการวิจัยเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมือง โดยเฉพาะความเลื่อมใสสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ ความเลื่อมใสสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมืองมีความหมายพิเศษ ซึ่งแม้จะบูชาบรรพบุรุษและเทวดาตามความเชื่อแต่ก็ยังคงรักษาประเพณีการบูชาผู้ที่มีคุณูปการในการก่อสร้างและรักษาประเทศ รวมทั้งกษัตริย์หุ่ง ในโบราณสถานทางจิตวิญญาณต่างๆของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมือง เช่น ศาลาเตินเลิบ ศาลาก๋า ศาลาเต๊และศาลาแถกฮว้าน ต่างมีการสักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่องโดยพวกเขาถือว่า นี่คือรากฐานของชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมื่อง”
ตามข้อมูลสถิติ ทั่วประเทศเวียดนามมีสถานที่สักการะบูชาบรรพกษัตริย์หุ่งและบุคคลที่เกี่ยวข้องในราชวงศ์หุ่งกว่า 1,400 แห่ง โดยที่จังหวัดฟู้เถาะ มี 326 แห่ง ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบเพื่อทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ของโบราณสถานเหล่านี้เพื่อมีมาตรการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพเพราะว่าโบราณสถานทางประวัติเหล่านี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตของประชาชน.