คนรุ่นใหม่กับการหลงรักการฟ้อน Xoe

Chia sẻ

(VOVWORLD) - ศิลปะการฟ้อน Xoe ไทถือเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือและชาวเวียดนามทุกคน ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมที่ได้รับการยกย่องรับรองจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNESCO เมื่อปี 2021 โดยการฟ้อน Xoe กำลังได้รับการสืบทอดและอนุรักษ์จากคนรุ่นใหม่เพื่อสานต่อเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทให้คงอยู่ต่อไป

ทุกท่านกำลังรับฟังเพลงประกอบการฟ้อน Xoe ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของเขตตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งทำนองนี้แต่งขึ้นตามคำคล้องจองที่เด็กๆ มักจะร้อง แล้วทุกคนฟ้อน Xoe ตาม

ปัจจุบัน มีกลุ่มแสดงศิลปะราว 200 กลุ่มในตำบลเหงียโละ จังหวัดเอียนบ๊าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาวๆ ที่มีความหลงใหลในการฟ้อน Xoe เป็นอย่างมาก นางสาว เหลื่องถิมิงห์ อายุ 16 ปี เป็นสมาชิกของกลุ่มแสดงศิลปะหมู่บ้านเดว 2 ตำบลเหงียอาน เผยว่า

“ศิลปะการฟ้อน Xoe ก็ไม่ต่างจากการเต้นรำพื้นบ้านอื่นๆ ซึ่งถ้าอยากฟ้อน Xoe ให้ดูสวยงาม ก็ต้องมีความทุ่มเทด้วย ดังนั้น นอกจากการฝึกเป็นประจำแล้ว พวกหนูก็เรียนรู้จากคนรุ่นก่อนเพื่อมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความหมายของท่าฟ้อน Xoe โบราณต่างๆ และสามารถแสดงได้อย่างถูกต้องตามต้นฉบับ พร้อมพัฒนาท่าฟ้อนต่างๆ”

คนรุ่นใหม่กับการหลงรักการฟ้อน Xoe - ảnh 1คนรุ่นใหม่กับการหลงรักการฟ้อน Xoe

ศิลปิน เดียวถิเซียง อายุ 42 ปี ในหมู่บ้านเหงียะโหล่ ตำบลเหงียะอาน ผู้ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสอนและอนุรักษ์ท่าฟ้อน Xoe เป็นเวลาหลายสิบปี ได้เผยว่านอกจากการสอนท่าฟ้อนโบราณ 6 ท่า ได้แก่ ค้ำแคน โยมคัน โด่นโฮน ฟ้าซี๊ ค้ำคันเมยเหลา อ๋อมหล่อมตบมือ บรรดาศิลปินยังสอนท่าฟ้อนพื้นบ้านหรือการแสดงในชีวิตประจำวัน เช่น Xoe ดอกไม้ หรือ Xoe งอบ เป็นต้นให้แก่คนรุ่นใหม่ เมื่อเด็กๆ เข้าเรียน แค่มีใจรักและมีความขยันในการฝึกฝน ก็สามารถฟ้อน Xoe ได้ไม่ยาก

“ดิฉันได้สืบทอดองค์ความรู้จากรุ่นปู่ยาตายาย ฉันแค่กลัวว่าท่าฟ้อน Xoe จะสูญหายไปเลยตั้งใจสอนให้เด็กๆ ครั้งละ 15-16 คน ส่วนครูทุกคนก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก อนุญาตให้เด็กๆ เรียนนอกเวลา เด็กๆ จึงรู้สึกดีใจมาก”

นอกจากการเรียนกับเหล่าศิลปินแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตำบลเหงียะโหล่ได้นำท่าฟ้อนโบราณ 6 ท่าของกลุ่มชาติพันธุ์ไทบรรจุในหลักสูตรการสอนนอกห้องเรียน ซึ่งจะช่วยปลูกฝังความรักและความรับผิดชอบในการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้คงอยู่กับเยาวชนรุ่นหลัง และมีส่วนร่วมต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างรอบด้าน คุณครู ฝ่ามถิแทงเหี่ยน ทำงานที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ลี้ตื่อจ่อง ตำบลเหงียะโหล่ เผยว่า “จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เล็กจนโต เด็กๆ ทุกคนต่างก็ชอบท่าฟ้อน Xoe เลยสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ พวกเราได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มศิลปินที่แบ่งเวลาและพยายามอย่างมากในการสอนเด็กๆ ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ของโรงเรียนก็สามารถฟ้อน Xoe ได้ และพร้อมเข้าร่วมการประกวดหรือการแสดงต่างๆ”

คนรุ่นใหม่กับการหลงรักการฟ้อน Xoe - ảnh 2เด็กๆ รุ่นหลังกับการเรียนฟ้อน Xoe

ส่วนนาย เลืองแหม่งห่า รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลเหงียะโหล่ เผยว่า ทางการท้องถิ่นได้วางแผนที่จะอนุรักษ์ท่าฟ้อน Xoe ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทให้คงอยู่ต่อไปในเวลาข้างหน้า

“ตำบลเหงียะโหล่จะยังคงส่งเสริมการสอนการฟ้อน Xoe ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งกลุ่มฟ้อน Xoe ในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไท”

ทั้งนี้ ด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลงรักเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตน จะเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งเพื่อให้การฟ้อน Xoe ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เขตตะวันตกเฉียงเหนือ รวมถึงตำบลเหงียะโหล่ ยังคงอยู่ตลอดกาล.

Feedback